‘เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน’ ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนไป
เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านจะงอกงามได้ ต้องเริ่มต้นจากครอบครัว ‘เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน’ อาจเป็นหนึ่งในแปลงเพาะชำเมล็ดพันธุ์นี้ก็เป็นได้
จะเรียกว่ากลับมาอีกครั้งแล้วก็ไม่เต็มปากนัก สำหรับงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ซึ่งครั้งนี้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนโฉมใหม่เป็น ‘เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน’ (family’s book festival) ครั้งที่ 1 จะมีอะไรแปลกใหม่หรือมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง อีกไม่นานได้รู้กัน
ที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งคือชื่องานเปลี่ยนไป แต่จะสำคัญอะไรหากเนื้อในไม่พัฒนาเลย ดังนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) จึงเข็นทั้งกิจกรรมและหนังสือมากมายหลายแนวออกมา เพื่อสนองตอบต่อกลุ่มเป้าหมายที่ขยายขึ้นดังชื่อเทศกาลหนังสือ ‘ครอบครัว’
แง้มให้รู้ก่อนสักนิดว่าสมาคมผู้จัดพิมพ์ตั้งใจให้งานหนังสือครั้งนี้เปิดโลกการอ่านผ่านหนังสือด้วยแนวคิด ‘สร้างสรรค์จินตนาการ ปูพื้นฐานจากครอบครัว’ พร้อมกิจกรรมกระตุ้นจินตนาการสำหรับทุกวัย อาทิเช่น ประกวด pubat cosplay จากตัวละครในหนังสือ, สนุกกับตัวการ์ตูนยอดฮิต ‘มาสค์ ไรเดอร์’, ‘โพโระโระ เพนกวินป่วนก๊วนขั้วโลก’ ซึ่งบินตรงมาจากญี่ปุ่น, นิทรรศการหนังสือป๊อปอัพ, นิทานในสวนกระดาษ และ 108 หนังสือดี ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่านนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเป้าหมายสำคัญของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คือ มุ่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งวัฒนธรรมการอ่านนั้นจะสร้างขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ต้องเริ่มจากหน่วยย่อยที่สุดของสังคมอย่าง ‘ครอบครัว’ ซึ่งแม้จะเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมทว่ากลับมีความหมายและสำคัญที่สุด
“ใน 1 วัน เด็กๆ จะใช้เวลาประมาณ 2 ใน 3 อยู่กับครอบครัว ดังนั้น การปลูกฝังให้อนาคตของชาติรักในการอ่านได้นั้น จึงจำเป็นจะต้องเริ่มต้นขึ้นจากครอบครัว ครอบครัวไหนที่สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกๆ ได้นั้นก็เท่ากับว่ากำลังสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญ เพื่อช่วยพัฒนาสังคมในทุกมิติอย่างยั่งยืน เพราะมีงานวิจัยรองรับเสมอว่าเด็กที่พัฒนาทักษะด้วยการอ่าน จะเติบโตขึ้นมาโดยมีวุฒิภาวะรอบด้านทั้งอารมณ์ สติปัญญา และจริยธรรม ซึ่งจะต้องสร้างกันตั้งแต่ยังเด็กๆ ยังเป็นหน่ออ่อน
นอกจากนี้ เรายังมุ่งหวังให้กิจกรรมการอ่านที่เกิดขึ้นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความรักความผูกพันและสานความสัมพันธ์ของทุกคนให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ในหลายบ้านมักปล่อยให้ลูกๆ อยู่กับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีต่างๆ โดยลำพัง ถ้าหากเปลี่ยนกิจกรรมมาเป็นอ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีกิจกรรมร่วมกับลูกๆ โดยมีหนังสือเป็นตัวเชื่อมโยง เมื่อครอบครัวแข็งแรง ประเทศชาติก็ย่อมแข็งแรงเช่นกัน”
นั่นเท่ากับว่าขอบเขตที่สมาคมตั้งไว้สำหรับงานหนังสือเด็กและเยาวชนขยับขยายขึ้นเป็นครอบครัวแล้ว พ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายาย นับเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้ด้วย
“การจัดงานครั้งนี้เราเปลี่ยนขอบเขต ครอบครัวสมัยก่อนอยู่กันมี ปู่ ย่า ตา ยาย ปัจจุบันไม่มี แต่ขณะเดียวกัน ภาวะทางเศรษฐกิจสังคม ทำให้พ่อแม่ต้องทำงาน ก็มักจะปล่อยให้ลูกถูกเลี้ยงด้วยไอที สมัยก่อนก็ทีวี ต่อมามีอินเทอร์เน็ต เด็กเล่นกันอย่างน้อยวันละ 4-5 ชั่วโมง มีมือถือก็เล่นมือถืออีก กลายเป็นไม่ใช่พ่อแม่สอนลูก กลายเป็นสังคมที่ไม่รู้จักหน้าตามาสอนลูกแทน
เราพยายามดึงความสัมพันธ์ของครอบครัวโดยใช้หนังสือเป็นสื่อกลาง เราเชื่อว่าหนังสือช่วยสร้างทักษะในหลายด้านให้แก่เด็ก แก่เยาวชน ทักษะแรก เรื่องการเรียนรู้ kl (knowledge learning) รู้แล้วต่อยอดได้ บางครั้งหนังสือไม่จบด้วยตัวเอง ต้องไปหาความรู้เพิ่ม แต่ทักษะตัวหนึ่งที่เด็กต้องการ พ่อแม่ต้องการ และสังคมต้องการ คือ ทักษะการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องวินัย ความซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตน การแบ่งปัน พวกนี้ถ่ายทอดทางหนังสือได้ ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ”
ด้าน ถนัด ไทยปิ่นณรงค์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เล่าถึงกิจกรรมด้วยว่า นอกจากจะยกขบวนหนังสือจากสำนักพิมพ์ร่วม 369 บูธ มาอยู่บนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตรให้ทุกครอบครัวได้เลือกสรรกันจุใจแล้ว ในปีนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัยอีกมากมาย อาทิเช่น นิทรรศการ 108 หนังสือดี โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการ ‘pubat cosplay’ ชวนเยาวชนที่เปี่ยมจินตนาการมาร่วมประกวดแต่งคอสเพลย์จากตัวละครในหนังสือหลากแนว, นิทานในสวนกระดาษ จากเอสซีจีเปเปอร์ร่วมกับมูลนิธิซิเมนต์ไทย ,นิทรรศการหนังสือ pop up ‘เพียงพ่อก็พอเพียง the soul of siam’ โดยมูลนิธิศิริวัฒนา, สนุกกับตัวการ์ตูนยอดฮิต ‘มาสค์ ไรเดอร์’, ‘โพโระโระ เพนกวินป่วนก๊วนขั้วโลก’ ที่บินตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น, ระดมหนังสือนิทานช่วยเหลือชุมชนน้ำท่วม ระบัดใบ จ.ระนอง และพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ,การ์ตูนไทยสร้างสุข, reading tv เปิดเวทีให้หนูน้อยนักอ่านได้แสดงความสามารถออกอากาศ, กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ อาทิเช่น พับกระดาษรูปสัตว์ ลากเส้น เล่นสี หุ่นนิทานนิ้วมือ ปั้นตัวละครจากหนังสือ เพนท์กระเป๋าผ้าลดและกิจกรรม พ่อแม่ยุคใหม่ใส่ใจสมองลูก โดยทีเค ปาร์ค
“เราออกแบบกิจกรรมเพื่อครอบครัว เราจึงอยากได้พ่อแม่มาร่วมด้วย กิจกรรมเดิมจากงานหนังสือเด็กและเยาวชนก็ยังมีอยู่ สสส.จัดกิจกรรม 108 หนังสือดี ให้ผู้ทรงคุณวุฒิคัดหนังสือ 108 เล่มเพื่อส่งมอบให้แก่ห้องสมุด มีโครงการหนังสือป๊อปอัพ เพียงพ่อก็พอเพียง ทางมูลนิธิสิริวัฒนา ทำหนังสือมา 3 เล่ม ให้เด็กรุ่นใหม่ที่อาจไม่ได้เห็นหรือสัมผัสพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสร้างบรรยากาศหนังสือให้น่าอ่าน มีทั้งเสียง เปิดมาก็มีป๊อปอัพขึ้นมา เล่มแรกเป็นสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ เล่มที่สองเกี่ยวกับพระบรมราชาภิเษก เล่มที่สามเป็นโครงการในพระราชดำริ เป็นหนังสือที่น่าสะสม แต่ไม่ได้ขาย ทางมูลนิธินำไปบริจาคให้โรงเรียน เท่าที่ทราบเป็นพันโรงเรียนแล้ว ซึ่งในงานเองก็จะให้เด็กได้ลองทำหนังสือป๊อปอัพด้วย
จริงๆ ยังมีอีกหลายกิจกรรม เช่น มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กก็ทำกิจกรรม book start ตอนเด็กๆ พ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง พอโตขึ้นเขาจะมีพื้นฐานที่ดี อีคิวดีกว่า หลายประเทศเริ่มจากกิจกรรมนี้มาก่อน ทำให้ประเทศเขาพัฒนา หากพ่อแม่เห็นความสำคัญตั้งแต่แรกเกิด จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
ซึ่งนอกจากกิจกรรมดังกล่าว สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังมีกิจกรรม csr อีกหลายอย่าง ดังที่นายก pubat กล่าวไว้ว่า ที่สำคัญทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังคงทำกิจกรรม pubat charity ปันกันอ่าน แบ่งกันให้ อย่างต่อเนื่อง เพราะการให้โอกาสทางการอ่านแก่ผู้ที่ขาดโอกาสเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นอกจาก ‘โครงการทอฝันปันหนังสือให้น้อง’ ซึ่งเราจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 โดยมอบบัตรกำนัลให้แก่เด็กด้อยโอกาสจากองค์กรต่างๆ จำนวน 300 คน มูลค่าคนละ 500 บาท เพื่อนำไปเลือกซื้อหนังสือที่สนใจภายในงานแล้วนั้น สำหรับ ‘โครงการมอบทุนเพื่อจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน’ เพื่อขยายโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือและการอ่านให้กับเด็กและชุมชนที่อยู่ห่างไกลนั้น ในปีนี้ ได้มอบเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารถึง 11 โรงเรียน รวมมูลค่ากว่า 660,000 บาท เพื่อจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดด้วย
นั่นคือ เกือบทั้งหมดที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ พยายามรังสรรค์ให้เกิดขึ้นในงานหนังสือครั้งนี้ แต่ในมุมมองของพ่อแม่ผู้ปกครอง การอ่านหนังสือสำคัญไฉน นุสบา ปุณณกันต์ ดาราสาวเจ้าบทบาท กล่าวในฐานะคุณแม่ที่เล็งเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือว่า ต้องเริ่มจากพ่อแม่อ่านก่อน ถ้าอยากให้ลูกอ่านหนังสือแต่พ่อแม่ขี้เกียจอ่านหนังสือ หรือไม่เห็นว่าหนังสือสำคัญ ก็คงไม่เกิดกับรุ่นลูกเป็นแน่
“นุสเองชอบอ่านหนังสือชอบเขียนหนังสือเพราะอาจจะเรียนทางด้านอักษรศาสตร์มาด้วย อีกอย่างตอนที่มีลูก ก็เชื่อว่าอ่านหนังสือให้เขาฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้องน่าจะเกิดอะไรบางอย่าง ตอนนั้นอ่านหนังสือทั้งในและต่างประเทศ เขาบอกว่าเด็กเรียนรู้จากการอ่านหนังสือได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ก็เลยเริ่มอ่านออกเสียง เชื่อว่าเขาจะได้ซึมซับไปด้วย”
โดยเฉพาะ น้องปุณณ ปุณณกันต์ ลูกชายคนโตวัย 11 ปี นุสบาอ่านนิทานให้เขาฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อเกิดมาก็ยังอ่านนิทานให้ฟังอย่างต่อเนื่อง นุสบาพบว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น
“เขาตั้งใจฟัง เหมือนเขาคุ้นกับเสียงนี้มาก เพราะมันเป็นเล่มเดิมที่เราอ่าน เหมือนมีอะไรบางอย่างที่เขาคุ้นๆ”
ทว่า เมื่อน้องปุณณโต สิ่งล่อใจก็มากขึ้นตาม นุสบาจึงพยายามปลูกฝังให้ลูกชายรักการอ่าน แม้ต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย ทั้งเกม อินเทอร์เน็ต เพื่อนฝูงในกลุ่มที่ชี้ชวนให้ละทิ้งหนังสือแล้วไปเล่นเกมกัน
“ปัญหาของเด็กตอนนี้คืออ่านกันน้อยมาก ถ้าเขาเข้าไปโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว มันจะ start แล้วก็ end อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เด็กยุคนี้จึงนั่งนานๆ ไม่ได้ พ่อแม่ยุคนี้น่าจะส่งเสริมเรื่องการอ่าน อ่านให้มาก การอ่านคู่กับการวิเคราะห์นะคะ เด็กรุ่นใหม่ขาดการวิเคราะห์เชิงลึกมาก เราอยากเห็นประเทศที่มีบุคลากรที่ไม่เชื่อกับข่าวลือ คราวนี้คุณจะวิเคราะห์ได้อย่างไร คุณต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ นุสเรียนอักษรศาสตร์มา ต้องอ่านหนังสือมาก พอใครพูดอะไรมาเราจะยังไม่เชื่อ แต่จะไปหาข้อมูลจากหลายแหล่ง แล้วตัดสินเองได้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าทำได้จะเป็นคนที่สมบูรณ์มากเลย ทั้งออนไลน์และการอ่านควบคู่กัน”
ด้วยค่าที่คุณแม่ปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย น้องปุณณ ปุณณกันต์ จึงสนใจอ่านหนังสือ เพราะได้ทั้งความรู้และพัฒนาตนเอง
“ผมชอบอ่านหนังสือแนวแอดเวนเจอร์ สนุกดี กระโดดไปกระโดดมา ฆ่าปีศาจ อ่านแล้วได้ความรู้และมีสมาธิ แม่เคยว่าผมว่าไฮเปอร์ หนังสือที่ผมอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ได้คำศัพท์ด้วย”
ด้าน คุณแม่ เสริมว่า “น้องปุณณสมาธิสั้น อ่านหนังสือไม่ค่อยจบ อ่านแป๊ปเดียวก็ไปเล่นฟุตบอลแล้ว ชอบเล่นฟุตบอลมาก อยากให้เขาอยู่กับหนังสือได้มากกว่านี้ หนังสือช่วยให้เขามีสมาธิขึ้น เขารู้ตัวเองก็พยายาม ทำให้ไม่เบื่อง่าย”
อย่างที่บอกไปแล้วว่างานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่านเติบโตมาจากงานหนังสือเด็กและเยาวชน เปรียบเหมือนพัฒนาการของเด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เติบโตเป็นหน่วยใหญ่ขึ้นของสังคม คำกล่าวที่ว่า “เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ยังเป็นจริงเสมอ แต่อะไรจะสร้างเด็กให้ดีแล้วกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ‘หนังสือ’ น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญซึ่งขาดไม่ได้ แต่ก็อีกนั่นละ…หนังสือดีเท่านั้นที่จะสร้างจิตสำนึกแก่เด็กได้ ผู้ใหญ่ก็อย่า ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ แล้วกัน…
วรพันธ์ฝากทิ้งท้ายด้วยว่า “หน่วยสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว จะทำอย่างไรให้ครอบครัวแข็งแรง หนังสือเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้ และสร้างลูกให้ได้ดีด้วยหนังสือ”
งานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน (family’s book festival) จะมีขึ้นในระหว่างวันพุธที่ 11-วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pubat.or.th
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ