เทคนิคจัดคอนโดสำหรับคนกักตัว

เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจากรายการเพื่อนกันวันติดโควิด ประจำวันที่ 27  กันยายน 2564


 ภาพโดย  ปารมี ขันธ์แก้ว  Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


เทคนิคจัดคอนโดสำหรับคนกักตัว thaihealth


ทุกวันนี้ที่ประเทศไทยและทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการจัดการปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19


จากสถิติจำนวนผู้ติดโควิด-19  กรุงเทพมหานคร คือ 1 ใน 10 อันดับพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด แน่นอนว่าเราได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันจัดการแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุด จึงทำให้เกิดศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation ) ขึ้นในหลายพื้นที่ รวมทั้งการแยกกักตัวที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า Home Isolation นั่นเอง


ด้วยสภาพแวดล้อมของชุมชนเมืองส่วนใหญ่ ผู้คนพักอาศัยในบริเวณที่ค่อนข้างจำกัด เช่น คอนโดหรือหอพัก ดังนั้น วันนี้เราจะพาไปดูว่าทำอย่างไร เราจึงจะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยในห้องพักขนาด 20 ตารางเมตรขึ้นไป ในการจัดพื้นที่สำหรับทำ Home Isolation


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกลุ่มคนตัว D และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด”  จัดทำสื่อฟื้นฟูสุขภาวะผู้ป่วยและคนใกล้ชิดในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพัฒนาช่องทางสื่อออนไลน์ ผ่านช่องรายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” เพื่อฟื้นฟูสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมแก่คนไทย โดยเฉพาะในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาตัวด้วยระบบ Home-Community isolation และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงผู้ที่ต้องดูแลผู้ที่ติดเชื้อด้วย


ช่วงหนึ่งของรายการประจำวันที่ 27  กันยายน 2564 มีประเด็นที่น่าสนใจ และคิดว่าหลายคนกำลังเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่ นั่นคือ เทคนิคจัดคอนโดสำหรับคนกักตัว ทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและผู้ร่วมอาศัย วันนี้ เรามีคำตอบมาฝากกัน


นายวีรวัฒน์ วรายน  สถาปนิกชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวถึง หลักการออกแบบ Home Isolation ซึ่งเป็นทางออกสุดท้ายที่จะช่วยเราในตอนที่โรงพยาบาลสนามเต็ม  ว่า


1.พยายามแบ่งพื้นที่ในห้องให้ชัดเจนที่สุด ก็คือแบ่งออกเป็น 3 สี ง่ายๆ


สีแดง พื้นที่เฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งต้องอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ตลอด 24 ชม. ยกเว้นต้องเข้าห้องน้ำ


สีเขียว พื้นที่สะอาดสำหรับผู้ที่อาศัยร่วมกัน


สีส้ม พื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน (มีความเสี่ยง)


2.เว้นระยะห่างให้มากที่สุด และนำเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในห้อง เช่น ตู้เสื้อผ้า ชั้นวาง กั้นไว้ระหว่างสีแดงกับสีเขียว ถ้าเราไม่มีของเหล่านี้ อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ คือ การใช้รางเหล็กและใช้ม่านพลาสติกแบบในห้องน้ำมากั้น ในส่วนของความสูงถ้าสามารถทำให้ชิดกับเพดานได้ก็จะยิ่งดี หรือถ้าไม่ได้จริง ๆ ต้องหาส่วนที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้มากั้นไว้


3.ในโซนสีแดงเราจะเอาของที่ไม่จำเป็นทุกอย่างออกไปให้หมด เพื่อไม่ให้ตัวเชื้อโรคไปเกาะติด ส่วนที่จะอยู่ในพื้นที่สีแดง ได้แก่ เตียง ที่นอนของผู้ป่วย โต๊ะเก้าอี้สำหรับรับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ถังขยะสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ พัดลมที่ระบายเชื้อโรคให้ไปทางช่องทางออกของลม โดยไม่ให้ผ่านคนที่ไม่ได้ป่วย จัดพื้นที่ให้ผู้ป่วยอยู่ใต้ลมเสมอ หรือปิดทางลมธรรมชาติเพื่อไม่ให้เชื้อกระจายเข้ามาสู่พื้นที่สะอาด


4.การใช้ห้องน้ำ อาจใช้วิธีจัดเวลาในการเข้า เช่น ผู้ป่วยต้องเข้าเป็นคนสุดท้าย และคนที่ไม่ป่วยก็ต้องพยายามใช้ห้องน้ำให้น้อยที่สุด และจัดพื้นที่ผู้ป่วยติดเชื้อให้ใกล้กับห้องน้ำที่สุด


5.แยกการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน และหากมีห้องนอนแยก ก็ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องนอน


 “ ถ้ามีการวางผังที่ชัดเจนและเป็นระบบ อย่างน้อยคิดว่าน่าจะช่วยลดโอกาสในการเสี่ยงติดเชื้อให้น้อยลงได้  แต่สุดท้ายแล้วอาจจะทำไม่ได้ 100% ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่อย่างน้อยเรื่องของการจัดวางโซน ต้องทำให้ชัดเจน แยกกันเด็ดขาด ซึ่งหากทำได้ในเบื้องต้น น่าจะช่วยลดโอกาสของการเสี่ยงติดเชื้อให้น้อยลงได้ “  นายวีรวัฒน์ กล่าว


เทคนิคจัดคอนโดสำหรับคนกักตัว thaihealth


นายวีรวัฒน์  ยังบอกอีกว่า จริง ๆ แล้วในวิชาชีพไม่มีคำว่า สถาปนิกชุมชน ที่ถูกแบ่งพิเศษเอาไว้  จะเรียกรวมๆว่าสถาปนิก แต่ที่เรียกแบบนั้นเพราะว่า โดยลักษณะของการทำงานของเรา เราพยายามจะเอาวิชาชีพของเราไปใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านการปรับเปลี่ยนทางกายภาพของพื้นที่ ของที่อยู่อาศัย ของบ้าน


นายธนา อุทัยภัตรากูร  สถาปนิกชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ ขยายความถึงบทบาทหน้าที่ในการเป็นสถาปนิกชุมชนว่า  เราเป็นสถาปนิก อาจไม่ได้มีความรู้ทางสาธารณสุขมากนัก แต่ก็ได้ศึกษาเอกสารในเรื่องของการจัดการพื้นที่ เราจึงใช้หลักการเดียวกันนี้ นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ขนาดเล็กแบบห้อง ซึ่งมีข้อควรระวัง ก็คือ ในการใช้ห้องน้ำ ต้องทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ผู้ป่วยควรใช้ห้องน้ำหลังสุดและทำความสะอาดทุกครั้ง


เทคนิคจัดคอนโดสำหรับคนกักตัว thaihealth


เหนือสิ่งอื่นใด กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ รวมทั้งโควิด-19  ดังนั้น รายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” ที่ สสส. และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นนั้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีแนวคิดต้องการให้ความรู้สึกเป็นเพื่อน อยู่เคียงข้าง ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันกำลังใจให้กับทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน


ผู้ที่สนใจรับชมรายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” สามารถติดตามที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/HomeIsolationFriends และยูทูบ เพื่อนกันวันติดโควิด และ AIS Play ทุกวันไปจนถึง 31 ตุลาคม 2564  ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น.


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code