เตือน 7 กลุ่ม ห้ามทำดีท็อกซ์ เสี่ยงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

 

หมอชลน่าน เผยการทำดีท็อกซ์สวนทวารควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ห้ามทำใน 7 กลุ่ม เสี่ยงอันตรายสูงถึงขั้นเสียชีวิต

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกโรงเตือนการทำดีท็อกซ์สวนทวาร เสี่ยงเกิดอันตรายจากอาการข้างเคียงได้ ห้ามทำโดยเฉพาะ 7 กลุ่มผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ อาจทำให้ลำไส้แตก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เด็ก สตรีมีครรภ์ ต้องระวัง ทำทุกครั้งต้องมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ประชนที่ไม่มีความรู้ไม่ควรทำ วิธีการขับพิษจากร่างกายที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือให้รับประทานอาหารพวกผัก ผลไม้ เพิ่มกากใย ทำให้ท้องไม่ผูก   

จากกรณีที่มีชายวัย 47 ปี อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เสียชีวิตหลังทำดีท๊อกซ์สวนล้างลำไส้ ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไปจนช็อค หมดสติ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การเสียชีวิตกรณีดังกล่าว เป็นอุทาหรณ์ให้ประชาชนระมัดระวังในการดูแลสุขภาพโดยใช้การสวนล้างลำไส้ หรือดีทอกซ์ (detoxification) ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมมาก และใช้ตามความเชื่อ การบอกปากต่อปาก เช่นช่วยลดน้ำหนัก ลดหน้าท้อง เพิ่มความสวยงามผิวพรรณ ขับสารพิษจากร่างกายทางอุจจาระ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ปัญหาระบบขับถ่าย

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงคือ การดีทอกซ์เป็นวิธีการล้างพิษของการแพทย์ทางเลือก โดยการสวนล้างลำไส้ อาจใช้น้ำอย่างเดียว หรือใช้น้ำร่วมกับสารบางอย่าง เช่น กาแฟ เพื่อทำให้เกิดการขับสารพิษออกจากร่างกาย แต่จะต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมเท่านั้น และห้ามทำใน 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบลำไส้ใหญ่ เช่นลำไส้ใหญ่อักเสบ อุดตัน มะเร็งลำไส้ เพราะเมื่อใส่น้ำเข้าไปจะทำให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น อาจทำให้ลำไส้แตกและเสียชีวิตได้ 2. ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดลำไส้โดยเปิดลำไส้ให้ขับถ่ายทางหน้าท้อง 3. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรุนแรง 4. เด็ก 5. สตรีมีครรภ์ 6. ผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลียมาก และ 7. ผู้ป่วยช่องท้องอักเสบ ได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องผลดีและผลเสียของการทำดีท็อกซ์ด้วยตนเอง เนื่องจากอาจเกิดอันตราย ทั้งจากความร้อนของน้ำที่ใช้ รวมทั้งความเข้มข้นของเกลือแร่ กาแฟที่อยู่ในน้ำที่ใช้สวนล้างลำไส้ การอ่านตำราแล้วทำตามเป็นวิธีการที่ไม่แนะนำ

ด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การทำดีท็อกซ์จะใช้ในกรณีการสวนล้างลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง จะต้องอยู่ในความดูแลและได้รับการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีขั้นตอนการทำตามหลักการแพทย์ แต่อย่างไรก็ดี วิธีการในการขับพิษจากร่างกายที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือการป้องกันท้องผูกโดยไม่ต้องพึ่งการดีท็อกซ์ ทำได้โดยการออกกำลังกายเพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่นผัก ผลไม้ และดื่มน้ำวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว เพื่อให้ระบบการขับถ่ายปกติ ดังนั้นจึงไม่ควรเลือกใช้การสวนล้างลำไส้ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาท้องผูกที่ปลายทาง หากต้องสวนล้างลำไส้ขอให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือก ไม่ควรทำเองจะเกิดอันตรายได้ โดยสามารถปรึกษาได้ที่ สำนักการแพทย์ทางเลือก โทร 0-2965-9194 ในวันและเวลาราชการ

 

 

ที่มา : สำนักงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข

Shares:
QR Code :
QR Code