เตือน หมา-แมว กัด ข่วน รีบฉีดวัคซีนฯ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัด อีกทั้ง ยังไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ สคร.12 สงขลา ย้ำ สุนัข แมว กัดข่วน หรือเลียบาดแผล อย่าชะล่าใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเมษายน 2561 ของพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 3 ราย ในจังหวัด สงขลา พัทลุง และตรัง และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 สคร.12 สงขลาได้รับรายงาน พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 65 ปี ณ หมู่ที่ 6 บ้านหูแร่ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัดบริเวณข้อมือด้านซ้าย และไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ โดยก่อนเสียชีวิตได้เข้ารับการรักษาด้วยอาการแน่นหน้าอก กลืนลำบาก ทั้งนี้ในบ้านของผู้เสียชีวิตยังเลี้ยงสุนัขกว่า 60 ตัว โดยสุนัขที่เลี้ยงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกตัว อีกทั้ง ในพื้นที่ตำบลทุ่งตำเสา มีการพบหัวสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 2 หัว ในระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2561 กอปรกับผู้เสียชีวิตยังมีพฤติกรรมให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำ ฉะนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการให้อาหารแก่สุนัขจรจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดจะต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
อย่างไรก็ตาม สคร.12 สงขลา ก็มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้ร่วมค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติม และให้ผู้สัมผัสทุกรายไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ยังได้ดำเนินการฉีดวัคซีนฯในสัตว์ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบบ้านผู้ป่วย รวมถึงได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าว
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies Virus) เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบ ๆ ร้อน ๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้ จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยาก ดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากวันเริ่มแสดงอาการ
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวต่อไปว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำประชาชนหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลาย ๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือประชาชนที่เคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดข่วนนานแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หากยังไม่ได้ไปฉีดวัคซีนฯ ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็ว เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมาก ตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 1 ปีได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวควรนำไปฉีดวัคซีนฯ ทุกตัว จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422