เตือน ปชช. สังเกตแม่ค้าใช้น้ำมันหนืด-ควันดำ อย่าซื้อ
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย รวม 11 องค์กร แถลงการจัดงานประชุมวิชาการ “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค”
โดย ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้ช่วยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการสวนาเรื่อง สถานการณ์การขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคว่า จากผลการสำรวจสถานการณ์และพฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดซ้ำในประเทศไทย สิงหาคม 2553 โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนสนับสนุนโดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภค 8,473 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร และอีก 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง จ.พิษณุโลก จ.นครราชสีมา จ.อุดรธานี จ.ชลบุรี จ. พระนครศรีอยุธยา จ.สงขลา และ จ.ภูเก็ต ผลการสำรวจพบว่า มีผู้ประกอบการ ร้อยละ 34.49 ใช้น้ำมันที่เสื่อมสภาพและใกล้เสื่อมสภาพมาใช้ประกอบอาหารให้แก่ผู้บริโภค ส่วนอีกร้อยละ 65.51 ยังใช้น้ำมันที่ไม่เสื่อมสภาพ
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจนี้ได้สำรวจก่อนจะเกิดวิกฤตน้ำมันแพง ดังนั้นมีแนวโน้มที่คนจะนำน้ำมันมาทอดซ้ำซากมากขึ้น หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันผลักดันกระบวนการจัดการน้ำมันใช้แล้วอย่างเป็นระบบ ขณะนี้นักวิชาการได้สังเกตการณ์พบการโฆษณาขายเครื่องกรองน้ำมัน รวมทั้งมีผู้ประกอบบางรายนำสารเคมีบางชนิดที่เติมเข้าไปในน้ำมันแล้วทำให้ค่าโพลาร์อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังมีอันตรายมีสารก่อมะเร็งอยู่ในน้ำมันเหมือนเดิม
“ขณะนี้กรมวิชาการแพทย์ได้จัดทำชุดตรวจโพลาร์ราคาถูกที่ผู้บริโภค หรือหน่วยงานต่างๆ จะนำไปตรวจสอบการขายอาหารของผู้ประกอบการตามท้องตลาด เช่น โรงเรียนสามารถนำชุดตรวจสอบสารโพลาร์ไปตรวจพ่อค้า แม่ค้าที่ขายอาหารตามโรงเรียน เป็นต้น ที่สำคัญในช่วงน้ำมันแพง พ่อค้าหาซื้อน้ำมันยาก จึงอยากจะเตือนประชาชนให้สังเกตน้ำมันในตลาดด้วยว่า หากน้ำมันมีลักษณะหนืด ทอดแล้วเกิดฟองเดือดและเกิดควันดำ สัญญาณเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมันมีค่าโพลาร์สูงถึงระดับ 40 เป็นอันตรายมากๆ โดยเฉพาะการเติมน้ำมันใหม่เข้าไปจะยิ่งเป็นผลร้าย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ทราบ นอกจากนี้ยังฝากเตือนประชาชนอย่าซื้อน้ำมันที่ใส่ถุงพลาสติก ไม่บอกที่มา เพราะอาจเป็นน้ำมันเก่าเสื่อมสภาพที่นำไปฟอกสีให้ใสแล้วนำกลับมาหลอกขายอีกครั้ง เป็นวงจรที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ภาควิชาการกำลังขับเคลื่อนชวนภาคธุรกิจมาทำ csr สร้างความร่วมมือในการจัดการน้ำมันอย่างเป็นระบบต่อไป” ภก.วรวิทย์ กล่าว
ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล แถลงว่า ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล สสส. โดย คคส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการครั้งใหญ่ เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ เครือข่ายผู้บริโภค และองค์กรภาครัฐ ภายใต้หัวข้อ “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค” ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
โดยในวันที่ 14 มีนาคม ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภคไทย” ส่วนวันที่ 15 มีนาคม จะเป็นการเปิดการประชุมวิชาการอย่างเป็นทางการ มีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค:ก้าวใหม่สังคมไทย” งานเวทีวิชาการและจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่ององค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และการประชุมวิชาการกลุ่มย่อย เพื่อเปิดโอกาสให้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคระดับชุมชนและจังหวัด พร้อมนักวิชาการร่วมถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดงานนี้อีก 9 องค์กร ได้แก่ 1.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 3.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 4.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 5.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) 6.คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา 7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) 8.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 9.กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ