เตือนสายแคมปิ้ง เดินป่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว ระวังตัวไรอ่อน เสี่ยงป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่
ที่มา : กรมควบคุมโรค
ช่วงปลายฝนต้นหนาว มักมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินป่า กางเต้นท์นอนตามป่าเขา ทำให้มีความเสี่ยงถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด เสี่ยงติดเชื้อและป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ได้ สคร.9 นครราชสีมา เตือนนักเดินป่า ผู้ปลูกพืชสวนพืชไร่ ผู้ทำงานในแถบทุ่งหญ้า ชายป่า ขอให้สวมใส่เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว และทายากันแมลงกัด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือนประชาชนที่มักท่องเที่ยวตามป่าเขา กางเต็นท์นอนในป่า หรือ ทำงานในแถบทุ่งหญ้า ชายป่า ขอให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด ทำให้เป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ อาศัยอยู่ตามกอไม้ กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยจะไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ตัวไรอ่อนมีขนาดเล็กมาก ราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 463 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 213 ราย เสียชีวิต 1 ราย 2) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 100 ราย 3) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 88 ราย 4) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 62 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ คนงานรับจ้างทั่วไป ผู้ปลูกพืชไร่ และเกษตรกร
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อว่า นักท่องเที่ยว นักเดินป่า ผู้ปลูกพืชสวนพืชไร่ ผู้ทำงานในแถบทุ่งหญ้า ชายป่าหรือทำงานเกษตรกรรม ควรปฏิบัติ ดังนี
1. ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว
2. ทายากันยุง ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้าให้ทาโลชั่นกันยุงไล่แมลง หรือสมุนไพรทากันยุง
3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม เช่น ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง
4. หลังออกจากป่า หรือทำงานเสร็จให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้
หากไปเที่ยวป่าเขากลับมาแล้วมีอาการไข้หรืออาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรักษาโรคโดยเร็วช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422