เตือนสติผู้ใหญ่ วันเยาวชนแห่งชาติ
วันที่ 20 กันยายน เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เป็นวันที่กำหนดให้มองเห็นความสำคัญของเยาวชน ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของเยาวชนและสนับสนุนให้กำลังใจแก่เยาวชน
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก เลขานุการมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ เขตธนบุรี กทม. บอกว่า วันเยาวชนเป็นวันอนาคตของสังคม แม้ว่าวันนี้จะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ถ้าผู้คนในสังคมไม่ใส่ใจและมองไม่เห็นคุณค่าของคำว่า “เยาวชน” แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าทุกฝ่ายต่างหันมาให้ความสำคัญทั้งด้านบทบาทหน้าที่ของเยาวชน แนวโน้มที่อยากจะให้สิ่งใดเกิดขึ้นกับเยาวชนแล้วช่วยกันผลักดันสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นกับพวกเขาก็หวังได้เลยว่าคุณภาพของเยาวชนคงจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน
“เยาวชนไทย ลูกหลานในสังคมไทยจะมีอนาคตเป็นไปในทิศทางใด จึงอยู่ที่พวกเราที่เกิดก่อนเป็นผู้ชี้นำ สนับสนุนให้มุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นได้” ชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี จึงจะเรียกว่า “เยาวชน” ส่วน คนที่มีอายุต่ำกว่านี้ก็จะเรียกว่าเด็กและทารก ส่วนคนที่มีอายุมากกว่านี้ ก็มักจะเรียกว่าผู้ใหญ่แต่อายุก็ไม่ได้เป็นข้อกำหนดของความรู้ ความสามารถทุกครั้ง เสมอไป บางครั้งคนที่มีอายุต่ำกว่าก็ยังมีความรู้ความสามารถมากกว่า เป็นไหนๆ “การที่จะสร้างสังคม ชาติบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางใด ก็ล้วนแต่เยาวชนจะเป็นผู้ปฏิบัติ เพราะพวกเขาสามารถสืบทอดเจตนารมณ์จาก พวกเราไปปฏิบัติให้เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรมได้”
พระมหาสมัย บอกว่า ทุกวันนี้การให้ความสำคัญทั้งเพศชาย หญิง เท่าเทียมกันมีมากขึ้น ศักยภาพของเยาวชนมีพลังมากขึ้น ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในทางที่ไม่ดีก็เป็นอุปสรรคสำคัญ นับตั้งแต่ปัญหาสร้างความรุนแรง ชกต่อย ทำร้ายร่างกายกันด้วย ความต่างของสีเสื้อสถาบันการศึกษา จนเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แทนที่จะเป็น “นักเรียน นักศึกษา” แต่กลับเป็น “นักเลง” ปัญหาการเที่ยวเตร็ดเตร่ยามค่ำคืน ไม่รักษาเนื้อรักษาตัว ไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงามของสังคม ติดการพนัน ติดสุรา สิ่งมึนเมา ติดบุหรี่ ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเยาวชนที่ยากจะเยียวยารักษา เพราะพวกเขายังไม่สามารถก้าวพ้นจาก “อบายมุข” เหล่านี้ได้เลย
นอกจากนั้นการมีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควรและมีความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับเรื่องเพศก็ยังกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของเยาวชนในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้วัตถุนิยมเข้ามาครอบงำจิตใจพวกเขาจนตกเป็นทาสของวัตถุไปเสียแล้ว จึงเสาะแสวงหาความสุขทางวัตถุมากกว่าการยกสภาพจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้หลักธรรมทางศาสนา ยิ่งร้ายไปกว่านั้นเยาวชนจำนวนมากห่างเหินศีลธรรม ไม่นำพาเอา หลักคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือไปประพฤติปฏิบัติ มีความเชื่อว่า เรื่องของศาสนาเป็นเพียงเรื่องของผู้สูงวัยเท่านั้น จึงเป็นทัศนคติที่จำเป็นต้องช่วยกันโน้มน้าวให้กลับคืนมาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
“ปัญหาทุกอย่างมีไว้เพื่อแก้ มิใช่มีไว้เพื่อพ่ายแพ้ เยาวชนบางคนประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือผิดหลักธรรมคำสอนของศาสนาก็เพราะอยากรู้ อยากลอง อยากสัมผัสด้วยตนเอง บางครั้งการกระทำเช่นนั้น กลายเป็นติดหรือตกเป็นทาสไปโดยที่ไม่สามารถกลับตัวกลับใจได้” บางคนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยขาดประสบการณ์ ขาดความเข้มแข็งในการที่จะชนะสิ่งนั้นได้ ในที่สุดก็ตกเป็น “ทาส” โดยสิ้นเชิง จึงจำเป็นอยู่ดีที่ผู้ใหญ่ในสังคมทุกระดับชั้นจะต้องหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจในการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เยาวชน แต่ถ้าผู้ใหญ่เฉยเมยกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขาแล้ว โอกาสที่ชาติบ้านเมืองจะล่มจมเพราะลูกหลานเรากลายเป็นคนด้อยคุณภาพก็จะมีมากขึ้น ในที่สุด สังคมเราก็จะเสื่อมโทรมและล้าสมัย
พระมหาสมัย ย้ำว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นกับเยาวชนนี้ นอกจากจะต้องอาศัยทุกฝ่ายยื่นมือเข้ามาร่วมมือกันแล้วยังจำเป็นต้องให้รู้จักนำเอาหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนเองเคารพนับถือมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขจึงจะประสบความสำเร็จ
“การพัฒนาเยาวชนจะต้องใช้หลักธรรมเข้ามาผสมผสานด้วย นับตั้งแต่ธรรมะระดับพื้นฐานไปจนถึงธรรมะระดับขัดเกลานิสัยใจคอให้กับพวกเขา อย่างเช่น การที่จะฝึกให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนจะต้องมีธรรมะ 4 ประการ”ประกอบด้วย “ฉันทะ” คือความพอใจและสุขใจกับการเรียน “วิริยะ” คือ ความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน “จิตตะ” คือ เอาใจฝักใฝ่ในการศึกษาเล่าเรียนหมั่นทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ “วิมังสา” คือ สำรวจตรวจตราบทเรียนที่เรียนไปแล้ว เพื่อให้เกิดปัญญาที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนวันข้างหน้า เป็นต้น
นอกจากนั้นการเรียนที่จะให้เกิดผลภูมิทางปัญญาอย่างครบถ้วนจะต้องเรียนให้เกิดศีลคือมีความปกติ มีความเยือกเย็น มีความสุข ให้เกิดสมาธิคือให้เกิดความแน่วแน่ในเนื้อหาวิชาที่เรียน เกิดอานิสงส์ตามมาคือ เกิดปัญญาซึ่งเรียกว่าเรียนจนครบกระบวนความ แต่ถ้าเรียนไปก็ยังมีจิตอิจฉาริษยา เกิดจิตอาฆาต ชิงชัง คิดทำร้ายผู้อื่น สุดท้ายก็เกิดการไปทำร้ายคนอื่นหรือเพื่อนที่ศึกษาเล่าเรียนต่างสถาบัน นั่นเป็นการเรียนที่ผิดหลักธรรมคำสอนของศาสนา
ดังนั้น เมื่อศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วต้องเป็นผลออกมาด้านฝ่ายบวกเพียงอย่างเดียวจึงจะเป็นการเรียนอย่างมีธรรมะมีศาสนาในดวงใจ แต่ถ้าเรียนไปแล้วเกิดพฤติกรรมการกระทำตรงกันข้าม สร้างความเสื่อมเสีย ความเดือดร้อนให้กับตนเองผู้คนรอบข้าง ไม่ใช่การเรียนที่สร้างสรรค์ ขาดธรรมะครองใจ
“วันเยาวชนถึงแม้ว่าหนึ่งปีได้ถูกกำหนดให้มีเพียงวันเดียวหรือทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนเพียงสัปดาห์เดียวก็ตาม แต่วิถีชีวิตของเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานในสังคมเราจะต้องดำเนินไปอีกสามร้อยกว่าวัน จนกว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์”
เราจึงควรช่วยเหลือและสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้ในทางที่ดีและถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ให้พวกเขาได้พบเห็นตัวอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ได้อยู่ในสังคมที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ได้อยู่ในภูมิประเทศที่ล้วนสร้างบรรยากาศให้เกิดในทางที่สร้างสรรค์ก่อให้เกิดความปกติสุขขึ้นมา ผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องประพฤติตนให้เป็น “ตัวอย่างที่ดี” แก่ลูกหลานทั้งในระดับครอบครัวและในระดับสังคม พฤติกรรมทางกายทางวาจาที่ไม่ดีก็ขอให้งดเว้นเสีย อย่าให้เกิดขึ้นจนลูกหลานเราลอกเลียนนำมาประพฤติปฏิบัติ…การที่จะสอนพวกเขาให้เกิดปัญญามิใช่เกิดขึ้นเพียงในห้องเรียนหรือชั้นเรียนเท่านั้น
วิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่พวกเขาตื่นขึ้นมาจนไปถึงนอนหลับ ล้วนเป็นคำสอนและตัวอย่างที่จะให้พวกเขาเลือกปฏิบัติธรรมะที่จะให้กับลูกหลานของเราไม่จำเป็นต้องไปรับเอาจากพระสงฆ์องค์เจ้าในวัดวาอารามเพียงเท่านั้น แต่เป็นธรรมะที่เกิดขึ้นจากการประพฤติดี ปฏิบัติชอบในชีวิตประจำวันของคนที่เป็นพ่อและแม่นี่เอง
ธรรมะที่สามารถถ่ายทอดให้กับลูกหลานได้เต็มที่ วันเยาวชนจึงควรมีตลอดทั้งปีและมีตลอดทั้งชีวิต อย่ายึดเพียงวันเดียวและให้ความสำคัญเพียงวันเดียวหรือสัปดาห์เดียว แต่ถ้าจะเริ่มต้นทำอะไรในสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับเยาวชนโดยที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ขอให้เริ่มต้นที่วันเยาวชนแห่งชาติก็จะมีคุณค่ากว่า
วันเยาวชนแห่งชาติมาถึงเช่นนี้ ขอให้เยาวชนคนหนุ่มคนสาวซึ่งเป็นอนุชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตน ทำหน้าที่เล่าเรียน ทำหน้าที่เป็นลูกที่ดี ไม่ทำให้พ่อแม่ต้องตกนรก เพราะลูกประพฤติตนเป็น “คนชั่ว”
ที่มา : หนังสืือพิมพ์ไทยรัฐ