เตือนวัยรุ่นอย่าลอง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’

      บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นสูงกว่าใบยาสูบทั่วไป และไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคตินได้ ทำให้อัตราการเต้นหัวใจสูง และอาจส่งผลต่อความดันโลหิต


/data/content/25742/cms/e_dhntvwyz1248.jpg


      หนึ่งในมาตรการคืน “ความสุขให้แก่ประชาชน” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้มองข้าม เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมีสุขภาพและอนามัยดี คือเรื่องการกำจัดมอระกู่และบุหรี่ไฟฟ้าที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันอย่างคึกคักเวลานี้ ซึ่งกำลังเป็นสิ่งมอมเมาเด็กและเยาวชนไทยให้พลัดหลง เพราะเชื่อว่ามีโทษน้อยกว่าบุหรี่ ทั้งที่ความเป็นจริงยังไม่มีงานวิจัยยืนยันความเชื่อดังกล่าว แต่เป็นเพียงคำโฆษณาของผู้ผลิตไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่จริงๆ แล้วผู้เสพแล้วอาจจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บและเป็นบ่อเกิดนำไปสู่การเสพติดยาเสพติดชนิดอื่นที่รุนแรงกว่า สร้างความปวดใจให้แก่ตัวเอง คนใกล้ชิด และเป็นที่น่ารังเกียจในสังคม  


    ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ขานรับแนวทางดังกล่าวตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้ให้นโยบายไว้เมื่อไม่นานมานี้ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาออกประกาศห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและมอระกู่ โดยอาศัย พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออกสินค้า พ.ศ.2522  


    ทั้งนี้ ตนขอสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่ เพราะทั้งมอระกู่และบุหรี่ไฟฟ้าปัจจุบันนี้ แม้จะมีนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังที่ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย แต่สิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้ง 2 ชนิด ก็มีการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงของปัญหาสิ่งเสพติดและยาเสพติด ทำให้สังคมสูญเสียทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ 


    เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวว่า แม้จะมีบางฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจะเป็นทางหนึ่งในการช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่เห็นว่าควรห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะงานวิจัยพบว่าประสิทธิภาพในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยการเลิกบุหรี่ไม่ได้แตกต่างจากยาอดบุหรี่ที่มีอยู่แล้ว 


    ที่สำคัญขณะนี้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติยักษ์ใหญ่ต่างผลิตบุหรี่ไฟฟ้าออกขายพร้อมทำการตลาดส่งเสริมการขายเช่นเดียวกับที่ทำกับบุหรี่ซิกาแรต จึงเป็นที่แน่ชัดว่าเป้าหมายที่แท้จริงของบริษัทบุหรี่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า ในระยะสั้นคือการชะลอไม่ให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ซิกาแรต คือรู้ว่าผู้สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ที่ห้ามสูบหรือต่อหน้าผู้คนอื่น แล้วยังคงสูบบุหรี่ซิกาแรตในที่อื่น


    สำหรับเป้าหมายระยะยาวคือทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเสพติดตัวใหม่ในศตวรรษนี้ ทดแทนบุหรี่ซิกาแรตที่นับวันจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น และสุดท้ายหากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามีความจริงใจที่จะผลิตขึ้นเพื่อช่วยการเลิกสูบบุหรี่นั้น ในทางปฏิบัติก็สามารถที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยากับ อย. เช่นเดียวกับยาอดบุหรี่ หมากฝรั่ง หรือแผ่นกอเอี๊ยะนิโคติน ซึ่งที่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าไม่เลือกเส้นทางนี้ เพราะหากขึ้นทะเบียนเป็นยาอดบุหรี่จะมีเงื่อนไขการใช้ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรกำกับ และไม่สามารถทำการส่งเสริมการขายได้ ตลาดจะมีขนาดเล็ก ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายของบริษัทผู้ผลิตที่ต้องการให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายเหมือนกับบุหรี่ซิกาแรต


    ด้าน เภสัชกรคฑา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยยกตัวอย่างว่า บุหรี่ปกติมีสารพิษกว่า 6,000 ชนิด แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีแค่นิโคตินเท่านั้น


    แต่การศึกษาพบว่าในบุหรี่ไฟฟ้าจะมีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นสูงกว่าใบยาสูบทั่วไป และไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคตินได้ ซึ่งอันตรายคือนิโคตินจะทำให้อัตราการเต้นหัวใจสูง และอาจส่งผลต่อความดันโลหิต และเมื่อมีการเผาไหม้ สารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้


    นอกจากนี้ จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ต่ำและงานวิจัยไม่ชัดเจน เพราะกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป อีกทั้งยังพบว่าแม้จะหยุดสูบบุหรี่ธรรมดาได้ แต่ผู้สูบกลับต้องการบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น หมายถึงทำให้ติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน


    ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า งานวิจัยต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ซึ่งพบสารก่อมะเร็งหลายๆ ชนิด เช่น ไดเอธิลีนไกลคอล ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ปรอท สารหนู แคดเมียม ในปริมาณที่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกายังชี้ชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไปทำให้ลดสมรรถภาพปอดและการหายใจได้เหมือนบุหรี่ทั่วไป และทำให้เซลล์ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ แม้ได้สัมผัสควันบุหรี่ไฟฟ้าเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น


    “ควันของบุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถเกาะที่พื้นผิววัสดุต่างๆ รวมทั้งผิวหนังของมนุษย์ แล้วเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องกับสารพิษหรือมลพิษชนิดอื่นๆ ในอากาศจนเกิดเป็นสารก่อมะเร็งได้ในที่สุด หมายถึงบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัย แต่งานวิจัยยังไม่มากพอ” ผศ.นพ.สุทัศน์ระบุ


    นอกจากนี้ ทางด้านองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยังให้คำแนะนำด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าควรห้ามไม่ให้มีการสูบในพื้นที่สาธารณะภายในอาคารด้วย จนกว่าจะมีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าไอระเหยที่ปล่อยออกมาของบุหรี่ชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ใกล้เคียง แม้การทำการตลาดของบุหรี่ชนิดนี้มักจะอ้างว่าละอองของเหลวที่เกิดการสูบบุหรี่นี้แทบจะไม่ระเหยเป็นไอออกมา


    อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ชนิดใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับบรรดาเยาวชน เพราะเป็นบุหรี่ที่ขณะสูบต้องทำให้สารนิโคตินภายในมวนบุหรี่เกิดความร้อนขึ้นเช่นเดียวกับบุหรี่แบบดั้งเดิม แต่บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่เกิดเป็นควันออกมา


    องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจดูเหมือนจะมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบเดิม แต่ย้ำว่างานวิจัยเพื่อพิสูจน์ถึงความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยมาก รวมไปถึงไม่มีงานศึกษาที่มีน้ำหนักพอต่อข้ออ้างของผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ที่บอกว่าบุหรี่ชนิดนี้สามารถช่วยคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่แบบเดิมได้


    แต่ดับเบิลยูเอชโอบอกว่า มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือมากเพียงพอที่ระบุว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลร้ายต่อเด็กและวัยรุ่น ผู้หญิงตั้งครรภ์และหญิงในวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากการได้รับนิโคตินของทารกในครรภ์และเยาวชนจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง


    ไม่อย่างเสี่ยงเป็นโรคภัยต่างๆ ที่สร้างความเจ็บปวดทั้งกายใจและเงินที่เก็บสะสมมาเพื่อรักษาตัวเอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ก็อย่าคิดริทดลองบุหรี่ไฟฟ้าตามคำชวนเชื่อแบบผิดๆ


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code