เตือนฤดูฝนขยะพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำ
กรมควบคุมโรคออกมาเตือนช่วงหน้าฝนให้ระวังสารพิษจากขยะอันตราย แนะให้ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้าง หากมีขยะอันตรายก็ควรแยกออกจากขยะทั่วไป หลังพบขยะอันตรายชุมชนสูงถึง 4 แสนตัน หวั่นหน้าฝนน้ำอาจชะไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องจากเป็นห่วงประชาชนที่เสี่ยงจะได้รับสารพิษจากขยะอันตราย เพราะจากข้อมูลเมื่อปี 2547 พบว่า มีขยะอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นในประเทศไทยปีละ 4 แสนตันและนับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2554 เกิดขยะอันตรายซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในภาคกลางตอนล่างอีก 18,000 ตัน ซึ่งขยะอันตรายเหล่านี้ยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี ยังคงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายร่วมมือกันลดการใช้และทำลายอย่างถูกวิธี
โดยเฉพาะในหน้าฝนโอกาสที่สารพิษจากขยะอันตรายจะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมีมาก การลดอันตรายจากสารพิษที่ประชาชนทำได้ คือ ลดการใช้สารเคมีและการคัดแยกขยะครัวเรือนออกจากขยะทั่วไปเพื่อลดจำนวนสารอันตรายไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หากได้รับสารพิษที่ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับขยะอันตรายให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยจากขยะอันตรายเหล่านั้น
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขยะอันตรายจากชุมชน หมายถึง วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งปนเปื้อนหรือมีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ อยู่ในบ้านเรือนหรือชุมชนที่เห็นบ่อย ได้แก่ ซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซากวิทยุ โทรทัศน์ พัดลม แอร์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่มือถือ ซากคอมพิวเตอร์ สารเคมีที่ใช้ในครัวเรือน เช่น สเปรย์ น้ำยาทำความสะอาด สี น้ำมันเครื่อง ยารักษาโรค เป็นต้น
ขยะอันตรายนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางการหายใจ ทางปาก และทางผิวหนัง หากสูดดมสารพิษจะรู้สึก แสบจมูก ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เจ็บคอ แสบคอ คัดจมูก หากถูกผิวหนังอาจเกิดอาการผิวหนังไหม้ เกิดผื่นคัน แสบตา ตาแดง หากรับประทานสารพิษเข้าร่างกายอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ในระบบทางเดินอาหาร ปวดท้องและอาจถึงตายได้ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเฉียบพลันแล้ว สารพิษในขยะอันตรายที่ถูกกำจัดแบบไม่ถูกวิธี ยังอาจก่อให้เกิดผลเรื้อรังด้วย เช่น ถ่านไฟฉาย มีสารแคดเมียม ทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้าง กระดูก ปอดและไต หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ มีสารปรอทซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง
แบตเตอรี่รถยนต์ มีธาตุตะกั่วที่สามารถทำอันตรายต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดแดง และพัฒนาการของสมองในเด็ก ซากผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารโบรมีนเป็นส่วนประกอบในกล่องสายไฟและแผงวงจรเป็นสารก่อมะเร็ง สีทินเนอร์ น้ำมันหล่อลื่น และสารเคมีจากกระบวนการล้างอัดขยายภาพ มีตัวทำละลายซึ่งมีฤทธิ์ไวไฟและเป็นพิษต่อมนุษย์ สารกำจัดแมลงและสารกำจัดวัชพืชที่ตกค้างในภาชนะบรรจุก่อให้เกิดการเปลี่ยนต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย และ มีผลต่อระบบสืบพันธุ์
ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ควรดำเนินการดังนี้ 1. ลดปริมาณขยะอันตรายในบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีภายในบ้าน เช่น ยากำจัดแมลงหรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ควรหันไปใช้สารทดแทนจากธรรมชาติจะดีกว่า เช่น ใช้เปลือกส้มแห้งเผาหรือตะไคร้หอมเพื่อไล่ยุง ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ผลิตจากสารธรรมชาติหรืออาจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานงาน เช่น แบตเตอรี่แบบชาร์ตได้
2. ถ้าจำเป็นต้องซื้อวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ เช่น สีทาบ้าน ควรซื้อในปริมาณที่เพียงพอจะใช้เท่านั้น ไม่ควรซื้อเกินและเหลือทิ้งภายหลัง 3. ไม่ควรเทสารเคมีที่ใช้ลงในท่อน้ำทิ้งแหล่งน้ำสาธารณะ หรือ บนพื้นดิน เพราะจะทำให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมของเรา การใช้สารเคมีควรใช้ให้หมดโดยสุดท้ายให้ใช้น้ำมาผสมแล้วใช้ให้หมดเกลี้ยง 4. ขยะภายในครัวเรือน ควรแยกเป็น 3 ถุง ได้แก่ขยะอาหาร ขยะแห้งที่เป็นพลาสติก เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ