เตือนระวังโรคฉี่หนูหลังฝนตก
พบป่วยกว่าพันราย
สาธารณสุข เผยในช่วง 4 เดือนหลังฝนตกปีนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–สิงหาคม พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้น รวม 1,653 ราย เสียชีวิต 18 ราย มากที่สุดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ขอนแก่น เตือนคนที่มีแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายต้องระวัง หลีกเลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลน สวมรองเท้าบู๊ทป้องกัน ล้างเท้าให้สะอาดหลังเดินย่ำน้ำทุกครั้ง
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขภาคเหนือ ที่โรงแรมไพลิน จังหวัดสุโขทัย เมื่อเช้าวันนี้ (17 กันยายน 2553) ว่า ในปีนี้มีฝนตกชุก อาจจะทำให้โรคบางโรคมีการแพร่ระบาดง่ายขึ้น ที่น่าห่วงคือโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (leptospirosis) ซึ่งพบผู้ป่วยตลอดปี และมักจะพบเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงฤดูฝนและหลังน้ำท่วม เนื่องจากเชื้อโรคที่อยู่ในฉี่ของหนูทุกชนิด ที่ฉี่ไว้ตามพื้นดินต่างๆ จะกระจายไปกับน้ำที่ท่วมได้ง่าย และมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน ดังนั้นผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูในขณะนี้ก็คือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ผู้ที่ต้องทำงานในภาคเกษตร เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวประมงน้ำจืด
“สถานการณ์โรคดังกล่าวในปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 กันยายน 2553 สำนักระบาดวิทยารายงานพบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 2,621 ราย เสียชีวิต 26 ราย พบผู้ป่วยทุกภาค แต่เมื่อวิเคราะห์ในช่วง 4 เดือนหลังจากที่มีฝนตกชุกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น รวม 4 เดือน มีผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,653 ราย เสียชีวิต 18 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน มีผู้ป่วยเดือนละไม่ถึง 300 ราย แต่ในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จำนวนผู้ป่วยมีเพิ่มขึ้น 303-513 ราย มากที่สุดในเดือนกรกฎาคม พบ 513 ราย เดือนสิงหาคม พบ 500 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด ได้แก่ บุรีรัมย์ 226 ราย ศรีสะเกษ 197 ราย ขอนแก่น 179 ราย สุรินทร์ 169 ราย กาฬสินธุ์ 100 ราย ส่วนในภาคเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดน่าน 38 ราย เชียงราย 34 ราย พะเยา 18 ราย”
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน หากมีรายงานผู้ป่วยที่สงสัยจะป่วยด้วยโรคฉี่หนู ให้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วลงไปสอบสวนเพื่อควบคุมโรคอย่างทันท่วงที และขอย้ำเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนานๆ ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ เนื่องจากเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางบาดแผลและกินน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ แนะนำให้สวมรองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบู๊ทที่ใส่ หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว ให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้ง
“กรณีผู้ที่ดื่มน้ำบ่อ ควรต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู อาหารที่ค้างคืนให้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน ทั้งนี้ลักษณะอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้น อาจเสียชีวิตได้”
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update : 17-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร