เตือนภัยเงียบ “โรคต้อหิน” เสี่ยงสูญเสียการมองเห็นถาวร พบคนไทยอายุมากกว่า 50 ปี เป็นต้อหินได้ถึง 5%

 ที่มา: กรมการแพทย์

                    ต้อหินเป็นโรคที่นำมาสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในคนไทยที่อายุมากกว่า 50 ปี จะพบต้อหินได้ถึง 5%โรงพยาบาล เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) แนะนำการตรวจตาและการมองเห็นด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของ การมองเห็นของตนเองได้ และหากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต้อหินให้เข้ารับการตรวจตาเพื่อพบโรคได้แต่ระยะแรกและทำการรักษา เพื่อชะลอความเสื่อมของโรค

                    นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดูแลสุขภาพดวงตาและการตรวจการมองเห็นด้วยตัวเอง เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญซึ่งหากพบความผิดปกติ และเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขทางจักษุและตรวจพบโรคแต่ระยะแรก ก็สามารถรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ การคัดกรองโรคตาจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ มากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางตา ผู้มีสายตาสั้นมาก สายตายาวมาก ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ควรได้รับการตรวจสายตาและวินิจฉัยโดยทีมจักษุสาธารณสุข

                    นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ต้อหินเป็นโรคความเสื่อมของประสาทตาที่แทบไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น ต่อเมื่อโรคดำเนินไปจนระยะท้ายทำให้สูญเสียลานสายตาและการมองเห็นได้ การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพตาและการได้รับการวินิจฉัยโรครวมถึงการติดตามอาการและการรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถชะลอโรคและรักษาการมองเห็นไว้ได้ แพทย์หญิงกุลวรรณ โรจนเนืองนิตย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษจักษุแพทย์ด้านต้อหิน กล่าวเสริมว่า เนื่องจากโรคต้อหิน แทบไม่มีอาการแสดงในระยะต้นเลยจนเมื่อโรคดำเนินไปจนสุดทางจึงมีอาการ เช่น มุมมองของภาพแคบลงและมีการสูญเสียการมองเห็นในระยะสุดท้าย การเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคตาในคนไทยยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องการการพัฒนาและจัดสรรในระบบจักษุสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้การคัดกรองโรคตาต่างๆ เช่น โรคต้อหินมีความเป็นไปได้ โรคต้อหินแบ่งตามกายวิภาคตาได้เป็นต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิดและหากแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรคได้เป็นต้อหินปฐมภูมิ และต้อหินทุติยภูมิ โดยกลไกการเกิดโรคนั้นเกิดจากการสูญเสียสมดุลของการสร้างและระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงใดๆในระยะแรก มีเพียงภาวะต้อหินมุมปิด ชนิดเฉียบพลันที่อาจมีอาการแสดง เช่น ปวดตา ตาแดง การมองเห็นลดลง การตรวจลักษณะประสาทตาเสื่อมที่เข้าได้กับการสูญเสียลานสายตาจึงสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ เป้าหมายของการรักษาต้อหินนั้นคือชะลอความเสื่อมของโรคโดยรักษาการมองเห็น และคงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิตโดยการรักษาที่ได้ผลคือการควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อประสาทตาด้วยการใช้ยาหยอดลดความดันลูกตาการเลเซอร์และการผ่าตัด แต่เนื่องจากต้อหินเป็นโรคความเสื่อมการรักษาไม่หายขาดความเข้าใจโรคความมีวินัยในการหยอดยาและการหมั่นติดตามการรักษาส่งผลโดยตรงต่อผลลัพธ์ของการรักษาการรักษาทางเลือกอื่นๆ เช่น อาหารเสริม การนวดตาเป็นการแอบอ้างและโฆษณาที่เกินจริง

Shares:
QR Code :
QR Code