เตือนภัยอันตราย นักเที่ยวกลางคืน
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สธ.เตือนสาวนักเที่ยวกลางคืนระวังโดนมอมยา ทำให้เคลิบเคลิ้ม นอนหลับ ออกฤทธิ์ภายใน 5-20 นาที นาน 1.5-3 ชั่วโมง หากใช้ฤทธิ์ยาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการชัก กดการหายใจ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จีเอชบี (Gamma-hydroxybutyrate) ถูกเพิกถอนออกจากการเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ตั้งแต่ปี 2533 ให้เป็นวัตถุที่ห้ามผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เพราะมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น อาเจียน ชัก นอกจากนี้การที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม นอนหลับ ออกฤทธิ์ภายใน 5-20 นาที และออกฤทธิ์นาน 1.5-3 ชั่วโมง จึงมักพบถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดในสถานบันเทิง เป็นการทดแทนยาอี ทั้งนี้หากใช้จีเอชบี ร่วมกับแอลกอฮอล์หรือยากดประสาทอื่นๆ จะทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการชัก กดการหายใจ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งในต่างประเทศพบรายงานการเสียชีวิตจากการใช้จีเอชบีค่อนข้างสูง
นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่ามีการใช้สารจีบีแอล (Gamma-butyrolactone) และ 1,4-บิวเทนไดออล เป็นของเหลวใส ไม่มีกลิ่น ซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับจีเอชบี เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนให้เป็นจีเอชบี ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม หลับ และทำให้เสพติดได้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทย์ฯ ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างของเหลวใส ไม่มีสี เพื่อดำเนินคดี จำนวน 7 ตัวอย่าง ผลการตรวจไม่พบจีเอชบี แต่พบ จีบีแอล 1 ตัวอย่าง และ 1,4-บิวเทนไดออล 6 ตัวอย่าง ทั้งนี้จีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออล จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่มีการควบคุมเป็นยาเสพติดตามอนุสัญญาสหประชาชาติและการควบคุมทางกฎหมายจะแตกต่างกันในหลายประเทศ
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้พบแนวโน้มที่จะใช้จีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออลมากขึ้น คาดว่าเป็นการใช้ทดแทนจีเอชบีที่มีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการเสนอทบทวนการควบคุมจีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออลในการประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO Expert Committee on Drug Dependence:ECDD) ครั้งที่ 36 เมื่อเดือนมิ.ย. 2557 และในการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (CND) ครั้งที่ 58 เมื่อเดือน มี.ค. 2558 ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิดของสารทั้งสองชนิดนั้น ส่งผลต่อสุขภาพและสังคมอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกับจีเอชบี แต่ยังไม่มีมติ เนื่องจากเป็นสารที่มีการใช้มากในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยหญิงสาวไม่ควรเที่ยวในสถานบันเทิงเพียงคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย และระมัดระวังในการดื่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะจากคนแปลกหน้าเพื่อป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้