เตือนพวงมาลัย-ดอกไม้ฉีดสารพิษ

สคบ. ออกเตือนผู้บริโภค ให้ระวังพวงมาลัย-ดอกไม้สด ฉีดสารพิษ หลังพบว่า มีร้านขายดอกไม้สดกว่า 17 ตลาด ใช้สารฟอร์มาลีน ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคเฝ้าระวัง หากสงสัยว่าพวงมาลัยที่ซื้อมานั้นมีสารฟอร์มาลีนเจือปนหรือไม่ สามารถแจ้ง สคบ.ได้ทันที หรือจะประสานเพื่อขอชุดทดสอบสารฟอร์มาลีนได้  

นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียมร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกสุ่มตรวจการจำหน่ายพวงมาลัยดอกไม้สดบริเวณสี่แยกไฟแดง และตลาดสดหลายพื้นที่ในกทม. หลังได้รับการร้องเรียนจากสภาผู้แทนราษฎรว่า ปัจจุบันผู้ขายพวงมาลัยดอกไม้สดมักฉีดสารฟอร์มาลีนลงในดอกไม้ ส่งผลให้ผู้ที่สูดดมหรือทิ้งไว้ในรถเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ และเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบตัวอย่างจากตลาดค้าดอกไม้ในกทม. จำนวน 27 ตลาด พบว่า มีร้านขายดอกไม้สดกว่า 17 ตลาด ใช้สารฟอร์มาลีน ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคเฝ้าระวัง หากสงสัยว่าพวงมาลัยที่ซื้อมานั้นมีสารฟอร์มาลีนเจือปนหรือไม่ สามารถแจ้ง สคบ.ได้ทันที หรือจะประสานเพื่อขอชุดทดสอบสารฟอร์มาลีนได้

“การสุ่มตรวจคงออกตรวจทุกๆ 3 เดือน เพราะที่ผ่านมามีผู้ที่ประสบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยซื้อพวงมาลัยที่สี่แยกไฟแดงแล้วมาแขวนไว้ที่หน้ารถ พอทิ้งเวลาไประยะหนึ่งได้สูดดมสารฟอร์มาลีนที่อยู่บนพวงมาลัยดอกไม้เข้าไป ซึ่งจากการตรวจสอบจากแพทย์พบว่า หากสูดดมสารนี้เข้าไปมากๆ จะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจจะทำให้แสบจมูก ไอ เจ็บคอ ปอดอักเสบ ระคายเคืองตา หรือถ้าสูดดมมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการน้ำท่วมปอดแน่นหน้าอก และอาจเสียชีวิตได้” นายจิรชัยกล่าว

ทั้งนี้ สคบ.ยังจะร่วมมือกับองค์การอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบร้านขายยาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกทม.และปริมณฑล หลังพบว่ามีการลักลอบขายสารฟอร์มาลีนกันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าข้อกฎหมายของ อย.จะสั่งห้ามขายสารดังกล่าว เพราะเป็นยาที่อันตราย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการขายดอกไม้มักหาซื้อสารฟอร์มาลีนได้อย่างสะดวก

การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น สคบ.จะแจ้งเตือนไปยัง ผู้บริโภคให้รับทราบก่อน โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ไม่ให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าบริเวณสี่แยกไฟแดงหรือที่ขายบนถนน และในเร็วๆ นี้ สคบ.จะเชิญผู้ประกอบธุรกิจมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป

นายจิรชัย กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ สคบ.ยังเตรียมจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับบริษัท ห้องปฏิบัติการ กลาง (ประเทศไทย) เพื่อร่วมมือด้านการตรวจสอบสินค้าที่เป็นอันตรายที่เจ้าหน้าที่สคบ.ได้ออกสุ่มตรวจตัวอย่าง รวมถึงช่วยตรวจสอบสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนจาก ผู้บริโภคว่ามีอันตราย โดยเชื่อว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code