เตือนผู้ใหญ่ใส่ใจเด็กเป็นโรคเบื่อโรงเรียน

เหตุติดเกม พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยง และความใกล้ชิดระหว่างครูและเด็ก

 

เตือนผู้ใหญ่ใส่ใจเด็กเป็นโรคเบื่อโรงเรียน          จากการประชุมเชิงปฏิบัติการการเฝ้าระวังทางสังคมและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชน จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ดร.อมรวิชช์ นาคร ทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวว่า จากการทำโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (child watch) ตั้งแต่ปี 2547 ได้เห็นถึงปัญหาเด็กและเยาวชนมากมาย ซึ่งต้นทางปัญหาคือสภาพครอบครัวที่อ่อนแอ รวมถึงยังมีปัญหาต่าง ๆ เช่น การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด การขัดแย้งในพื้นที่ที่เจริญ และปัญหาสังคมตามมาเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะมีมหาวิทยาลัยมากที่ไหนก็จะมีปัญหามากที่นั่น โดยจะเป็นแพ็กเกจที่ไม่มีกติกาคือหอพัก ร้านเหล้า โต๊ะสนุ้ก

 

            นอกจากนี้เด็กเยาวชนเสพสื่อมากขึ้น ติดเกมอินเทอร์เน็ต เฉพาะกรุงเทพมหานครมีร้านอินเทอร์เน็ตที่จดทะเบียน 5,000 ร้าน ไม่จดทะเบียน 15,000 ร้าน และยังพบบริเวณหน้า ม.รามคำแหงมีร้านอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ กลายเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้ว แต่กฎหมายเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้ ตนจึงอยากให้ทุกหน่วยงานร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนมากขึ้น ซึ่งหัวใจของความสำเร็จอยู่ที่ฐานความรู้ที่มีความเที่ยงตรง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างกลไกผลักดันในแต่ละจังหวัด และต้องทำงานเชื่อมโยงในลักษณะเครือข่าย

 

          รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลที่พบสะท้อนตรงกันว่าเด็กเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียน เกิดโรคเบื่อโรงเรียน หมดความมุ่งหวัง ขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ สาเหตุหนึ่งมาจากความห่างเหินระหว่างครูและเด็ก ที่ครูมุ่งแต่ทำผลงานเพื่อตำแหน่ง เด็กส่วนใหญ่สนใจอินเทอร์เน็ต ติดเกม หรือ พ่อแม่ก็นำลูกไปไว้ที่ร้านเกม หรือห้างสรรพสินค้า เพราะไม่มีเวลาเลี้ยง อีกทั้งหลักสูตรการเรียนรู้ก็ล้าสมัย

 

          นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.อุบล ราชธานี กล่าวว่า การจะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สำเร็จ ต้องปูพื้นฐานทิศทางของจังหวัดก่อน เริ่มที่ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน อย่ามองปัญหาว่าเกิดเฉพาะตัวเด็ก หรือลอยอยู่ในอากาศ เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของสังคมที่ห่อหุ้มเด็ก ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมองให้ครอบคลุม บูรณาการทุกภาคส่วน ดำเนินการให้ต่อเนื่อง และดึงพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update:24-09-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code