เตือนปรุงสด ปลาร้า ของหมักดอง
สารตกค้างอันตรายถึงชีวิต
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจวิเคราะห์ ปลาร้า ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปูเค็ม หอยดอง และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาร้า เช่น เกลือ รำ และข้าวคั่ว จำนวน 123 ตัวอย่าง พบไตรคลอร์ฟอน ซึ่งจัดเป็นสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตตกค้างในปลาร้า 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13 เตือนหากผู้บริโภคได้รับสารนี้จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงและอาจรุนแรงถึงขั้นชักหมดสติ แนะเลือกซื้อปลาร้าจากแหล่งจำหน่ายที่สะอาดหรืออยู่ในภาชนะบรรจุมีฝาปิดและควรบริโภคปลาร้าที่ปรุงสด
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปลาร้าเป็นอาหารหมักที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง ที่เป็นผลมาจากความสามารถในภูมิปัญญาของคนไทย ถือเป็นการถนอมอาหารประเภทหนึ่งทำให้เก็บไว้รับประทานได้นาน และนำมาดัดแปลงหรือแปรรูปเป็นอาหารได้มากมาย เช่น ส้มตำปลาร้า น้ำพริกปลาร้า ปลาร้าหลน ปลาร้าทรงเครื่อง อีกทั้ง ยังสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
สำหรับกรรมวิธีการผลิตปลาร้านิยมนำปลาไปหมักในภาชนะ เช่น โอ่ง ไห หรือถัง มีทั้งภาชนะมีฝาปิดมิดชิด และภาชนะปากกว้างที่ฝาปิดไม่สนิทพอ ทำให้ช่วงขณะที่หมักใช้เวลาตั้งแต่ 5-8 สัปดาห์จนถึงนานเป็นปี ทำให้อาจมีแมลงวันตอม โดยเฉพาะที่ทำเป็นอุตสาหกรรมเป็นเหตุให้เกิดหนอน แมลงวันขึ้น โดยเฉพาะที่ทำเป็นอุตสาหกรรมเป็นเหตุให้เกิดหนอนแมลงวันขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงหาวิธีในการกำจัดแมลงวันโดยใช้ยาฆ่าแมลง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้เกิดการตกค้างของยาฆ่าแมลงในปลาร้าได้
จากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ปลาร้า ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปูเค็ม หอยดอง และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาร้า เช่น เกลือ รำ และข้าวคั่วทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 123 ตัวอย่าง ตรวจพบไตรคลอร์ฟอนตกค้าง ในปลาร้า จำนวน 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13 โดยปริมาณการตรวจพบสูงสุด 12.41 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและปริมาณการตรวจพบต่ำสุด 0.11 มิลิกรัมต่อกิโลกรัม
ด้าน นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไตรคลอร์ฟอน หรือ ดิพเทอร์เร็กซ์ เอส พี จัดเป็นสารกำจัดศัตรูพืช กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัสที่มีอันตรายต่อร่างกาย หากผู้บริโภคได้รับสารนี้จากการหายใจเข้าไปมากจะมีอาการเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ มึนงง มีน้ำลายออกมากกว่าปกติ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ หายใจ ไม่สะดวกและอาจชักหมดสติได้ และหากได้สารพิษนี้เข้าทางปากอาจมีอาการท้องร่วง ปวดท้อง และอาเจียน
นอกจากการตกค้างของยาฆ่าแมลงในปลาร้าแล้ว กรรมวิธีการหมัก การขนส่งหรือการจำหน่ายที่ไม่สะอาดถูกสุขอนามัยก็อาจทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคต่อร่างกายได้ เช่น สแตฟไฟโลคอคคัส ออเรียส (staphylococcus aureus), คลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ (clostridium perfringens) และบาซิลลัส ซีเรียส (bacillus cereus) ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ดังนั้น หากประชาชนต้องการบริโภคปลาร้าให้ปลอดภัย ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่สะอาดหรืออยู่ในภาชนะบรรจุมีฝาปิดสนิทและควรบริโภคปลาร้าที่ปรุงสุกเท่านั้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
update: 05-07-30
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ