เตือนปชช.ในพื้นที่ระวังโรคภัยในช่วงน้ำท่วม
ที่มา : IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ให้ระวังโรคภัยในช่วงน้ำท่วม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ 11 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. – 7 ธ.ค. 2560 (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ประชาชนได้รับผลกระทบ 469,301 ครัวเรือน จำนวน 1,515,986 คน เสียชีวิต 15 ราย (ปัตตานี 5 ราย, สงขลา 3 ราย ยะลา ตรัง นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 ราย และพัทลุง 1 ราย) ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา สถานการณ์นี้มีต่อเนื่องจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. 60 นี้ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 9-11 ธ.ค. 60 จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ จะมีโอกาสพบผู้ป่วยจากโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ทั้งโรคทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ โรคตาแดง โรคฉี่หนู และโรคน้ำกัดเท้า ส่วนอุบัติเหตุที่อาจพบได้ เช่น ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของแหลมหรือของมีคม รวมถึงอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือน กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชน ดังนี้ 1.ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้าน ก่อนที่น้ำจะท่วมถึง 2.เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคมในบริเวณอาคารบ้านเรือนและตามทางเดิน 3.ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง 4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่บูดเสีย อาหารกระป๋องยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำขวด ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนปรุงและเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย 5.ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำโดยตรง ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปทิ้งถังขยะ 6.ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา ผู้ป่วยโรคตาแดงควรแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน และ 7.หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น ถ้ามีบาดแผลต้อไม่ให้สัมผัสถูกน้ำโดยสวมรองเท้าบู๊ทยาง หากต้องลุยน้ำย่ำโคลนต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็ว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422"