เตือนทารกใช้แชมพู แป้งเสี่ยงเป็นหมัน
วิจัยพบมีสารเคมีตัวก่อการเป็นหมันสูง 4 เท่าในปัสสาวะ
หนังสือพิมพ์เดอะลอสแอนเจลีส ไทม์ส ฉบับออนไลน์รายงานผลการวิจัยอันล่าสุดจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่าทารกหรือเด็กเล็กที่ใช้โลชั่น แชมพู และแป้งสำหรับเด็ก มีระดับสารพทาเลต (phthalates) ซึ่งอาจมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของพวกเขาในปริมาณที่สูงกว่าปกติถึง 4 เท่าตัวในปัสสาวะ
การวิจัยดังกล่าวนี้ทำขึ้นในนครลอสแอนเจลีส และอีก 2 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาและผลการวิจัยที่ได้เตรียมจะตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านกุมารเวช pediatrics ทั้งนี้นักวิจัยเตือนด้วยว่าปัจจุบันอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสำหรับทารกก็มีมากขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ใช้สารพทาเลตในระดับความเข้มข้นที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย
ดร.ชีลา สาธยานารายานา จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้นำทีมนักวิจัยทีมนี้กล่าวว่าสิ่งที่การวิจัยนี้พบก็คือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสำหรับเด็กหลายรายการมีสารพทาเลตอยู่เยอะและสารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายเด็กได้ผ่านทางผิวหนัง
ซ้ำร้ายผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเหล่านี้ก็ไม่ได้ระบุถึงสารพทาเลตนี้ไว้ในสลากด้วยจึงทำให้ไม่ทราบว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวไหนบ้างที่มีสารนี้เป็นส่วนประกอบซึ่งผลของสารพทาเลตต่อทารกนั้นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตันและมหาวิทยาลัยแห่งโรเชสเตอร์ระบุว่ามีลักษณะไม่แน่นอน
อย่างไรก็ดีผลการทดลองในสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติและในมนุษย์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ระบุว่าการถูกสัมผัสสารพทาเลตบ้างเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดการลดลงของฮอร์โมนเทสโตสเตโรน และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชาย
และสำหรับการวิจัยล่าสุดที่ทำในประเทศสหรัฐนี้นักวิจัยตรวจพบสารประกอบ 3 ชนิดของสารพทาเลต ซึ่งเป็น 3 ชนิดเดียวกันกับที่การวิจัยในประเทศเดนมาร์คเมื่อปีค.ศ.2006 พบว่าเป็นตัวที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโตสเตโรนในทารกลดลง
จากกรณีดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนได้ตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่าการลดลงของฮอร์โมนเพศนี้เองอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการสืบพันธุ์แบบต่าง ๆ และภาวการณ์มีบุตรอย่างในผู้ชายได้ ด้านตัวแทนจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางกล่าวว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจกับผลการทดลองนี้เป็นอย่างมากและตั้งคำถามถึงความถูกต้องของผลการวิจัยที่ได้
พวกเขากล่าวด้วยว่ามีเพียงสารประกอบชนิดเดียวของสารพทาเลตที่ใช้กันในการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และเป็นการใช้ในประมาณที่ค่อนข้างต่ำมากๆ จึงน่าสงสัยว่าทำไมการวิจัยนี้ถึงได้พบสารนี้ในปริมาณความเข้มข้นที่สูงได้
สำหรับรายละเอียดของการวิจัยล่าสุดนี้นั้นนักวิจัยระบุว่าแพทย์ได้นำตัวอย่างปัสสาวะของเด็กจำนวน 163 คนที่มีอายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 28 เดือนและเป็นเด็กที่เกิดในลอสแอนเจลีส มินนีอาโปลิส และโคลัมเบีย ในช่วงปีค.ศ.2000 และ ปีค.ศ.2005 มาตรวจทดสอบหาสารพทาเลต
ผลการตรวจปัสสาวะของเด็กพบว่าเด็กทุกคนมีสารประกอบของสารพทาเลตอย่างน้อย 1 ชนิด และมากกว่า 80% ของตัวอย่างปัสสาวะที่นำมาตรวจมีสารประกอบของสารพทาเลต จำนวน 7 สารประกอบหรือมากกว่านั้น
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 06-02-51