เตือนคุณแม่วัย 35 ขึ้นไป ลูกเสี่ยงพิการ

 

นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการฯ ชี้ เด็กเสี่ยงพิการแรกเกิดปีละ 3-5% เตือนหญิงตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี พ่ออายุมาก เสี่ยงลูกพิการแต่กำเนิด

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงแรมตะวันนา ในการประชุมวิชาการครั้งที่ 4 ประจำปี 2555 “โครงการป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย” จัดโดยสมาคมเพื่อเด็กพิการฯ ร่วมกับชมรมเวชพันธุศาสตร์กุมารแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความพิการตั้งแต่กำเนิดเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงาน ก่อนมีบุตร โดยกรมอนามัย มีโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมของคู่สมรสเพื่อให้คำปรึกษาในการมีบุตร รวมทั้งแจกยาเม็ดไอโอดีนแก่หญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะพิการ ซึ่งกำลังจะมีการขยายโครงการแจกยาเม็ดเสริมอาหารผสมไอโอดีน โฟเลต และธาตุเหล็ก ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะพิการ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากทารกมีพัฒนาการตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ ดังนั้นควรเตรียมแม่ให้มีความพร้อมที่สุด เพราะพบว่าความพิการบางเรื่องสามารถป้องกันได้ด้วยภาวะโภชนาการที่ดี นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ในการเตรียมตัวตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ด้วย

ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันมีทารกพิการแต่กำเนิดทั่วโลกกว่า 8 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีทารกแรกเกิด 800,000 คนต่อปี พบว่าสถานการณ์เด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5 หรือ 24,000-40,000 คนต่อปี โดยความพิการแต่กำเนิดมีหลายภาวะ แต่ส่วนใหญ่จะพบ 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาการดาวน์ พบ 1 ต่อ 1,000 ราย 2.กลุ่มหลอดประสาทไม่ปิด พบ 1 ต่อ 800 ราย 3.กลุ่มปากแหว่งเพดานโหว่ พบ 1 ต่อ 1,000 ราย 4.กลุ่มแขนขาพิการแต่กำเนิดพบ 1 ต่อ 1,000 ราย และ 5.กลุ่มกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์ พบ 1 ต่อ 10,000 ราย สาเหตุครึ่งหนึ่งมาจากพันธุกรรม นอกนั้นมาจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น บุหรี่ เหล้า เพศสัมพันธ์ หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจากเพศสัมพันธ์ย่อมมีโอกาสลูกพิการแต่กำเนิด ขณะเดียวกันหากตั้งครรภ์อายุมากก็มีโอกาสเสี่ยงด้วย

“อายุที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ของเพศหญิงอยู่ระหว่าง 25-35 ปี หากต่ำเกินไปก็เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ไม่ปลอดภัย หากอายุมากเกินไปก็เสี่ยงเกิดโรคทางพันธุกรรมซึ่งเกิดจากยีนส์กลายพันธุ์ ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนรู้วิธีเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และการดูแลทารกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก 2 ใน 3 ของความพิการที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะความพิการที่เกิดจากเรื่องโภชนาการ สิ่งแวดล้อม” ศ.พญ.พรสวรรรค์กล่าว

ศ.พญ.พรสวรรรค์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ กลุ่มเด็กพิการแต่กำเนิดยังไม่มีตัวเลขชัดเจน เนื่องจากไม่มีระบบคัดกรอง หรือจดทะเบียนผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ นักวิชาการโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า ได้จัดทำโครงการป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดฯ ขึ้นใน 5 กลุ่มโรค โดยจัดทำคู่มือปฏิบัติการระดับชุมชน และระดับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย มีทั้งแบบประเมินและคัดกรองโดยจดทะเบียน และส่งต่อข้อมูลเด็กพิการ ดูแล รักษาป้องกัน ฟื้นฟู ติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ