เตรียมเดินหน้า "ธนาคารเวลา" ดูแลคนสูงวัยในกทม.

ที่มา : เดลินิวส์


 



แฟ้มภาพ


 


“พม.” เตรียมถอดบทเรียน “ธนาคารเวลา” ธ.ค.นี้ ผ่านพื้นที่นำร่อง 42 แห่ง หวังให้เกิดเป็นรูปธรรม–คู่มือทางการ พร้อมเคาะพื้นที่นำร่องใน กทม. 11 แห่ง


นางสุภัชชา สุทธิพล โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวง พม. โดย น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย “ออมเวลา ปันสุข” นั้น ว่า ในปี 2548 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่สมบูรณ์ในปี 2564 และในปี 2574 จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โครงการ “ธนาคารเวลา”จึงเป็นเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้คนในสังคมดุแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก ทั้งนี้ในปี 2561 ทาง ผส.ได้ดำเนินการโครงการธนาคารเวลาสำหรับดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ รวมทั้งให้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการและขับเคลื่อนด้วย ในพื้นที่นำร่อง 42 พื้นที่ใน 28 จังหวัด โดยมีอาสาสมัครให้บริการจำนวน 497 คน อย่างไรก็ตามในปี 2561 มีสถิติการลงทะเบียนจิตอาสาจำนวน 120 รายส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครมากที่สุด ส่วนกิจกรรมที่จิตอาสาสนใจมากที่สุด คือ การเป็นเพื่อนคุย อ่านหนังสือ และอำนวยความสะดวก เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2562 ทาง ผส.จะมีการจัดทำผังข้อมูลอาสาสมัครการติดตามผลและถอดบทเรียนการดำเนินงานธนาคารเวลา จัดทำชุดองค์ความรู้ และคู่มือการดำเนินงาน รวมถึงจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการบันทึกข้อมูลธนาคารเวลา และหาภาคีเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆเพื่อผลักดันให้ธนาคารเวลาได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม


“สำหรับในพื้นที่นำร่อง 42 พื้นที่นั้น จะมีการดำเนินการตั้งแต่ ต.ค.-พ.ย.นี้ ส่วนในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทาง ผส.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 11 พื้นที่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยสัปดาห์หน้าทาง ผส.จะมีการพูดคุยร่วมกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ว่าจะมีการใช้พื้นที่ไหนบ้าง เพราะจะต้องมีการบูรณาการในส่วนของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครในแต่ละเขต คาดว่าวันที่ 5 พ.ย.61 จะได้ความชัดเจน ทั้งนี้ในส่วนของชุมชนที่จะมีการทดลองนั้นจะต้องมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ และจะต้องอาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่นั้น หลังจากนั้นก็จะนำมาจับคู่กันและเปิดการอบรมให้องค์ความรู้แก่จิตอาสาเบื้องต้น เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะมีการสอบถามทั้งฝั่งผู้สูงอายุและจิตอาสาว่าผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการถอดบทเรียนในช่วง ธ.ค.นี้ พร้อมทำเป็นคู่มือให้เกิดความชัดเจน และเป็นไปทิศทางเดียวกัน” น.ส.แรมรุ้ง กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code