เตรียมตัวอย่างไรเมื่อ “แม่มือใหม่” ต้องให้นมลูก

ทราบกันดีว่า "นมแม่" มีประโยชน์ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ช่วยหยุดโรคอ้วนในเด็กได้  ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เด็กเติบโตสมบูรณ์นั้น 50% มาจากพันธุกรรม อีกครึ่งหนึ่งมาจากช่วงวัยทารกได้กินนมแม่ และการเลี้ยงดู


เพราะ นมแม่ มีสารอาหาร และสารต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด มีสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพเหมาะกับระบบทางเดินอาหาร และไตทารกที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ และปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกทุกระยะการเติบโต มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และ สสส. จึงมีความพยายามในการส่งเสริมสนับสนุนให้แม่ไทยได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อสุขภาพและพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ จิตใจ และปัญญา


เตรียมตัวอย่างไรเมื่อ “แม่มือใหม่” ต้องให้นมลูก thaihealth


ขณะเดียวกันก็พบปัญหาว่า "แม่มือใหม่" ที่ประสบการณ์ยังน้อยมักจะประสบความกังวลหลังคลอดหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน หรือแม้แต่การออกกำลังกายที่จะช่วยลดน้ำหนักหลังคลอด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนสามารถนำไปสู่ความเครียด และส่งผลโดยตรงต่อ “นมแม่” ได้ด้วย


วันนี้มีคำแนะนำจาก พญ. อรพร ดำรงวงศ์ศิริ กุมารแพทย์ด้านโภชนาการเด็ก คณะกรรมการโครงการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถาบันผลิตแพทย์ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย มาฝากค่ะ…


สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องให้นมลูก…


1. ทัศนคติที่ดีต่อนมแม่ คือ อยากให้คุณแม่มีทัศนคติที่ดีในการให้นมลูก เพราะเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนต่างรู้ดีว่า นมแม่นั้นมีคุณค่าและประโยชน์มหาศาลต่อลูกน้อย ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนมีกำลังใจและเชื่อว่า ‘เราทำได้’


“แม้ว่าในช่วงแรกจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้างแต่เชื่อเถอะว่า ด้วยสัญชาติของความเป็นแม่ เราจะทำสิ่งที่ดีให้กับลูกได้”


2. ดูแลสุขภาพเพื่อลูกน้อย คุณแม่ทุกคนต้องดูแลตัวเอง ทั้งในแง่ของอาหารการกิน เพราะนมแม่จะเป็นแหล่งอาหารที่ดีให้กับลูก ฉะนั้นแม่จะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนของคุณแม่ต้องเพียงพอด้วย สำหรับ 5 อาหารสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้ สามารถอ่านเพิ่มเติม >> ที่นี่ <<


3. พูดคุยแลกเปลี่ยน หาที่ปรึกษา เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับนมแม่ ขอให้คุณแม่อย่ายิ่งนอนใจ อย่าท้อแท้ ให้หาที่ปรึกษาก่อนที่มันจะสายเกินไป โดยคนที่เราจะสามารถพูดคุยได้ก็มีตั้งแต่ญาติผู้ใหญ่ของเราเอง เพื่อนที่เคยให้นมแม่มาแล้ว หรือบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และคลินิกนมแม่ หรือแม้แต่ความรู้หรือสื่อในโซเชียลมีเดียต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็มีเรื่องนมแม่อยู่เยอะมาก


“ถ้ามีปัญหาก็อย่าเพิ่งท้อใจ  ค่อยๆ คิดและหาทางแก้ไป พยายามหาที่ปรึกษา พูดคุยจากคนที่รู้ หรือมีประสบการณ์มาก่อน”


อารมณ์และการออกกำลังกายมีผลต่อนมแม่อย่างไร?


สำหรับการ "ออกกำลังกาย" พญ. อรพรอธิบายว่าในแง่การแพทย์ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า การออกกำลังกายมีผลต่อการผลิตหรือการสร้างน้ำนมหรือไม่ แต่ก็ยังไม่เคยมีคุณแม่คนไหนที่ออกกำลังกายแล้ว ‘น้ำนมหาย’ ในขณะที่บางรายอาจจะช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ และมีข้อมูลว่าเมื่อออกกำลังกายคุณแม่อาจจะดื่มน้ำมากหรือความสัมพันธ์ระหว่างสารเอ็นโดฟินกับการหลั่งน้ำนมก็น่าจะเป็นไปได้


แต่ในเรื่องของ “อารมณ์” ค่อนข้างชัดเจนมาก เพราะหากคุณแม่มีปัญหาซึมเศร้า ความเครียดจะกดฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า หากคุณแม่คนไหนที่เครียดมาก น้ำนมก็จะน้อยมาก และยิ่งน้ำนมน้อยก็จะยิ่งเครียด ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ ตรงนี้จึงต้องเน้นย้ำว่า ถ้ามีปัญหาให้หาที่ปรึกษาหรือคนช่วยเหลือ ซึ่งหมอเชื่อว่าในสังคมนมแม่เอง ทุกคนพร้อมที่จะให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือ กับคนที่มีปัญหาทุกคน


การให้ได้กินนมแม่ นับเป็นช่วงเวลาพิเศษสุดที่แม่และลูกจะได้สัมผัสกันใกล้ชิดกัน และสามารถสื่อถึงความรู้สึกทั้งหมดของแม่และลูกได้ ก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน ทำให้ลูกอารมณ์ดี มีความสุข เรียนรู้ และปรับตัวทางสังคมได้ดีในอนาคต


สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปนานๆ คือความเชื่อมั่นในคุณค่าของน้ำนมแม่ ความตั้งใจของคุณแม่ และการสนับสนุนช่วยเหลือจากครอบครัว รวมไปถึงกำลังใจจากคนใกล้ตัวด้วยค่ะ


เตรียมตัวอย่างไรเมื่อ “แม่มือใหม่” ต้องให้นมลูก thaihealth


คุณแม่มือใหม่ สามารถดาวน์โหลดคู่มือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ที่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย


 


 


เรื่องโดย ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code