เตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ
น้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรา แต่หากมันมีมากจนเกินไป ก็คงส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง อย่างในหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่กำลังประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมหนักอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลพบุรี อยุธยา เชียงใหม่ นครสวรรค์และอีกหลายๆ พื้นที่รวมถึงกรุงเทพด้วย ผู้คนกำลังไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย ขาดทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค สร้างความเดือดร้อนอย่างมหาศาล ยากที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ แต่พึงรู้ไว้ว่า…สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น จะผ่านพ้นไปและเราสามารถป้องกันได้ หากชุมชนเราเข้มแข็ง…
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นแกนหลัก บอกกับเราว่า จากการที่เราได้ทำงานลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่น้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา ปทุมธานี อุบลราชธานี และอื่นๆอีก ที่กำลังประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเด่นชัดในยามนี้คือ เรื่องของการมีน้ำใจ ช่วยเหลือกันของคนในชุมชน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี หากแต่บางครั้งการช่วยเหลือหรือการแก้ไขปัญหานั้น กลับเป็นการที่ต่างชุมชนต่างทำกันเอง ผิดถูกก็ทำกันไป ส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันภายใน พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเดียวกัน จนในที่สุดก็เกิดการเดือดร้อนซ้ำซากขึ้นอีกไม่รู้จบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยการที่เราต้องมีตัวเชื่อมประสานให้ทุกชุมชนใกล้เคียงหันมาทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวและลดการทะเลาะกันในพื้นที่
“โดยส่วนตัวมองว่า การจะแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่ชุมชนกำลังประสบอยู่ตอนนี้ให้ยั่งยืนนั้น เราจำเป็นจะต้องเชื่อมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัด หมู่บ้านและชุมชนที่ประสบปัญหา รวมถึงชุมชนใกล้เคียงทั้งหมด หันหน้ามาพูดคุย หารือเพื่อหาทางแนวทางแก้ไขและป้องกัน สนับสนุนให้มีกระบวนการพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อจะได้แก้ไขได้ครบในหลายมิติ เพราะในเวลาเช่นนี้ อย่ามัวแต่จะไปโทษใครเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข” นางปรีดากล่าว
นางปรีดาบอกต่อว่า โดยที่ผ่านมาทางมูลนิธิชุมชนไทได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัย ด้วยการเข้าไปพูดคุย ให้ความรู้ แนะนำ พร้อมทั้งช่วยประสานเชื่อมโยงให้ทุกหน่วยงานมาพบเจอ พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ให้ทุกคนในชุมชนได้รู้ เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือ และก็เป็นไปตามที่หวังไว้ เพราะชาวบ้านเกิดการตื่นตัวในการที่จะร่วมมือช่วยกันทั้งในชุมชนและละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
“แต่ทั้งนี้ เรื่องของข้อมูล ข่าวสารนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะคนในชุมชนจำต้องทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่กำลังจะมา ปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อจะได้หาทางป้องกันได้ถูกและทันเวลา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านแทบไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เลย นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซากเกิดขึ้น โดยตนเชื่อว่าหากทุกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ สามารถเชื่อมโยงทุกๆ ฝ่ายได้ การป้องกัน ร่วมถึงความช่วยเหลือแก้ไขก็จะผ่านไปได้ด้วยดี” นางปรีดากล่าว
และเมื่อหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง ระดับน้ำลด ภาพที่จะเห็นตามมาก็คงเป็นการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน เพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ขนย้ายข้าวของเครื่องใช้เข้าที่ ฟื้นฟูสภาพชุมชนและรวมถึงฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนในชุมชนอีกด้วย เพราะบางคนอาจสูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียทั้งที่นา สวน ไร่ต่างๆ นั่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ทั้งนี้ ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกชุมชนควรที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยนางปรีดา บอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลังที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คนในชุมชนต้องหันหน้ามารวมพูดคุยกัน ประชุมหารือ ร่วมกันถอดบทเรียนและสำรวจข้อมูลในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่รับน้ำ สำรวจว่าจุดไหนรับน้ำได้บ้าง มาวางแผนด้วยกัน และต้องมีแผนการปฏิบัติใช้จริง เพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อนอีก
“ซึ่งท้องถิ่น ชุมชน หรือ อบต.น่าจะเป็นตัวเริ่มต้นในการดึงทุกฝ่ายมาร่วมหารือ ถอดบทเรียน เพื่อเตรียมรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเองต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่ามัวแต่นั่งรอ เพราะภูมิประเทศแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน หน่วยงานที่ช่วยเหลือไม่สามารถรู้ว่าพื้นที่ไหน รุนแรงเท่าใด ชุมชนต้องลุกขึ้นมาร่วมตัวกันคิด แก้ไขป้องกัน แต่การแก้นั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมระยะยาวด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้ลดการใช้โฟม ลดการใช้พลาสติก เพื่อลดโลกร้อน ที่เป็นต้นต่อของปัญหาภัยต่างๆ และที่สำคัญเราต้องสร้างผู้นำที่เข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขได้ในทุกๆ พื้นที่” นางปรีดากล่าว
เห็นแล้วนะคะ ไม่ว่าจะปัญหาภัยพิบัติใด การพร้อมรับสถานการณ์ของท้องถิ่นเองนั้นก็คือหัวใจสำคัญ เพราะหน่วยงานจากภายนอกกว่าจะเคลื่อนตัวลงมาช่วยเหลือใช้เวลาค่อนข้างมาก และไม่สามารถอยู่เกาะติดกับพื้นที่ได้นาน หากชุมชนเข้มแข็งพร้อมรับมือ ไม่ว่าภัยใดๆ ก็ผ่านพ้นไปได้ทั้งนั้นคะ
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th