เด็ก-วัยรุ่นไทยเผชิญ”ภัยอ้วน”
เหตุ…สารพัดทอด-แครกเกอร์-ฟาสฟู๊ด
สธ.ระบุ เด็ก-วัยรุ่นไทย เผชิญ “ภัยอ้วน” 15 ล้านคน ชี้เป็นชนวนก่อโรคเบาหวาน เผยป่วยแล้ว 9 หมื่นราย สาเหตุหลักจากการกิน โดยเฉพาะ 9 อาหารยอดฮิต พลังงานสูงต้องระวัง กล้วยทอด-ปาท่องโก๋-ขนมปังไส้ครีม-กุนเชียง-โดนัท-ข้าวเกรียบและข้าวอบกรอบ-หมูยอ-ขนมปังแครกเกอร์-เฟร้นช์ฟราย
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทวีความรุนแรงทั่วโลก แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดในเด็กและเยาวชนมากขึ้น ในปี 2550 พบผู้ป่วย 246 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1 คน ทุก ๆ 5 วินาที เสียชีวิตปีละเกือบ 4 ล้านคน ใกล้เคียงกับการตายจากโรคเอดส์ และที่น่าห่วง มีเด็กป่วยด้วยโรคเบาหวานที่เกิดจากพฤติกรรมเพิ่มขึ้นวันละ 200 คน ซึ่งจะเป็นภาระต่อสังคมในระยะยาว ทั้งค่ารักษาและโรคแทรกซ้อนที่ตามมา ซึ่งโรคนี้หากป่วยตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้ชีวิตสั้นลงโดยเฉลี่ย 10-20 ปี
ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกจึงได้ให้ทั่วโลกรณรงค์ลดความอ้วนเพื่อแก้ปัญหาโรคเบาหวาน โดยมุ่งเน้นในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักกว่าร้อยละ 80 เกิดจากความอ้วน เนื่องจากในคนอ้วนจะทำให้เซลล์ของตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน ที่ทำหน้าที่สลายน้ำตาลในเลือดทำงานหนักเกินไปจนไม่สามารถทำงานได้ รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย ซึ่งป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรม ลดการกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม เพิ่มการกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกายให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายอ้วน
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย ในปี 2550 มีผู้ป่วยเบาหวานเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศเกือบ 4 แสนราย เสียชีวิตปีละเกือบ 8,000 ราย สาเหตุกว่าร้อยละ 80 ไม่ใช่จากกรรมพันธุ์เหมือนในอดีต แต่เกิดจากพฤติกรรม เช่น กินอาหารหวาน มัน กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน อาหารสำเร็จรูป ขาด การออกกำลังกาย โดยขณะนี้มีเด็กไทยอ้วนประมาณ 15 ล้านคน มากที่สุดคือ กทม. พบได้ทุก 1 ใน 10 คน รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเด็กป่วยเบาหวานแล้ว 90,000 ราย
ส่วนการป้องกันควบคุมปัญหาดังกล่าว ในปี 2552 สธ. มีนโยบายเน้นการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่ม โดยให้ทุกจังหวัดรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการกินหวาน มัน เค็ม เพิ่มการกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที เน้นหนักในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ในส่วนของผู้ที่ป่วยแล้ว ได้ตั้งคลินิกเบาหวาน ในโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชนทุกแห่ง รวม ทั้งค้นหาผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระบบบริการมากที่สุด ให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ตาบอด ไตวาย อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งปัจจุบันมีผู้รู้ ตัวว่าป่วย และเข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 43 เท่านั้น
ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประเมินกระแสการบริโภคของคนไทยในปัจจุบัน พบว่ามีค่านิยมต่างไปจากอดีตมาก มักนิยมกินเนื้อสัตว์เปล่า ๆ ตามคนตะวันตก ชอบอาหารสำเร็จรูป โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยทั่วประเทศ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอาหารยอดนิยมซึ่งล้วนให้พลังงานสูง 9 ชนิด ได้แก่ กล้วยทอด ปาท่องโก๋ ขนมปังไส้ครีม กุนเชียง โดนัท ข้าวเกรียบและข้าวอบกรอบ หมูยอ ขนมปังแครกเกอร์ เฟรนช์ฟราย
สำหรับการปรับพฤติกรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียน ปีนี้กรมอนามัยได้รณรงค์ให้มีการออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติก่อนเข้าเรียนทุกวัน วันละ 30 นาที ประเมินสุขภาพปีละ 2 ครั้ง ส่งเสริมให้เด็กกินผักผลไม้แทนขนม ไม่กินจุบจิบ ไม่กินน้ำอัดลม ซึ่งมีน้ำตาลมากถึง 8-11 ช้อนชา กินผลไม้รสหวานนาน ๆ ครั้ง ไม่สะสมขนมขบเคี้ยว หรือขนมกรุบกรอบไว้ในบ้าน และขอความร่วมมือผู้ปกครองให้จำกัดเวลาเล่นคอมพิวเตอร์ ดูทีวี ของเด็ก ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 24-11-51