เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต
เด็กไทยกว่า 3 ล้านคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งยังมีระดับไอคิวต่ำ-อีคิวลด ขาดระบบจัดการด้านโภชนาการที่ดี
รศ.ดร.อารี จำปากลาย จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงผลงานวิจัย "เด็กเล็กๆ เป็นอย่างไรเมื่อพ่อแม่ย้ายถิ่น : ผลกระทบของการย้ายถิ่นในประเทศที่มีต่อชีวิตเด็กเล็ก" ว่า เป็นการวิจัยระยะยาวปี 2556-2559 ผลวิจัยที่เสร็จเบื้องต้นซึ่งได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กอายุแรกเกิด -36 เดือน ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่มีการย้ายถิ่นของครอบครัวสูง โดยสุ่มสำรวจ 1,080 ครัวเรือน พบว่าเกือบร้อยละ 90 ของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย แทน จำนวนนี้ร้อยละ 24.8 มีพัฒนาการล่าช้าเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านภาษา
นายแอนดรู เคล์โปล หัวหน้าแผนวิเคราะห์นโยบายองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ในประเทศไทย พ.ศ.2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีเด็กร้อยละ 21 หรือมากกว่า 3 ล้านคน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานในเมือง
วันเดียวกัน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากการสำรวจระดับสติปัญญา (IQ) หรือไอคิว นักเรียนไทยทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 และระดับความฉลามทางอารมณ์ (EQ) หรืออีคิว พบว่ามีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานส่วนอีคิวลดลงและพบปัญหาโภชนาการที่ส่งผลต่อระดับสติปัญญาและสุขภาพร่างกายของเด็ก ดังนั้นเพื่อวางแผนและพัฒนา ไอคิว อีคิว ทางกรมสุขภาพจิตและกรมอนามัย จะสำรวจไอคิว อีคิว และภาวะขาดสารไอโอดีนและภาวะโลหิตจางของเด็กไทยปี 2557 ในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้
ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยตั้งเป้าภายใน 10 ปี จะลดภาวะเด็กผอม และภาวะอ้วนเตี้ย รวมทั้งเพิ่มไอคิวให้เฉลี่ยมากกว่า 100 โดยมีแนวทางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการอาหาร และโภชนาการ คือบรรจุนักโภชนาการหรือนักจัดการอาหารและโภชนาการระดับตำบล ผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนจัดบริการอาหารแบบครัวกลาง 1 ตำบล 1 ครัวมาตรฐาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต