เด็กไทยสุ่มเสี่ยง เป็นยุวอาชญากร มั่วเพศ – ก้าวร้าว

ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปจะทำให้เด็กเข้าสู่ยุคตัวใครตัวมัน

 เด็กไทยสุ่มเสี่ยง เป็นยุวอาชญากร มั่วเพศ – ก้าวร้าว

 

          นักวิชาการชำแหละเยาวชนไทยกำลังเดินเข้าสู่ยุค “ลอกคราบ” ระบุต้นทุนทางสังคมกร่อน เยาวชนขาดศิลธรรมก่อเหตุรุนแรง หมกมุ่นเรื่องเพศ และมีแนวโน้มที่น่าหวาดกลัวจนอาจพัฒนาไปสู่”ยุวอาชญากร” เกิดเป็นสังคมตัวใครตัวมัน เผยปิดเทอมเป็นช่วงสูญญากาศ แนะใช้มาตรการทางกฎหมายคุมเข้มแหล่งมอมเมาเยาวชนอย่างจริงจัง

 

          เมื่อวันที่ 27 เม.ย.51 รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสังคม กล่าวในรายการวิทยุ “สังคมพิพากษ์” ถึงปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศและเด็กละเมิดทางเพศเด็กว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องเก่าและใหม่และบางเรื่องแรงขึ้น รวมความแล้วอยากเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กไทยยุคลอกคราบ เพราะเคยมีงานวิจัยหลายชิ้น แล้วคาดการณ์ว่าต่อไปเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กไทยพันธุ์ใหม่และจะกลายเป็นยุวอาชญากร ใกล้เข้าสู่เป็นปัญหาและมีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ไม่มีใครออกมาหามาตรการหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จนในที่สุดเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นเยาวชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และมีเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

          “ผมคิดว่าเด็กกลุ่มนี้คล้าย ๆ กับลอกคราบและโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่และเยาวชนที่มีพื้นฐานเรื่องเพศ ความรุนแรง และการเสพสื่อเข้ามาเกือบทุกคน โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่ได้คำนึงเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมต่าง ๆ ไปดูแต่เรื่องความสุข แสดงออก ความสนุกสนาน เลยสุกเต็มที่จากเด็กกลายเป็นเยาวชน และที่น่าตกใจมากคือสถานการณ์ทางเพศกินไปในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยลงตามลำดับ แม้กระทั่งคนที่เป็นอาจารย์ยังทำในเรื่องพิลึก ๆ แสดงว่าต้นทุนทางสังคมขณะนี้กร่อนมาก ไม่มีใครพูดถึงวัฒนธรรมศีลธรรมอันดีแล้ว ผมเคยคาดการณ์ไว้ว่าถ้าสังคมยังเป็นแบบนี้คงถึงยุคสังคมตัวใครตัวมัน และตอนนี้ก็ใกล้เคียงแล้ว ไม่แน่ว่าถ้าปล่อยไว้อีก 10 ปี เราจะเข้ายุคตัวใครตัวมันอย่างแท้จริง”

 

          รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า ทางออกที่พอจะมีทางเป็นไปได้คือต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังไม่หย่อนยาน เช่น การเข้าถึงร้านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันเด็กใช้เวลาเข้าถึงได้เพียง 5 นาที และข้อมูลร้านเกมอินเทอร์เน็ตขณะนี้มีประมาณ 30,000 ร้านเท่ากับจำนวนโรงเรียนแล้ว ดังนั้นช่วงปิดเทอมทั้งปีที่เด็กมีเวลาว่าง 90-120 วัน หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และส่วนกลาง ต้องออกแบบโปรแกรมหรือกิจกรรมดี ๆ จัดพื้นที่ดีให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญหน่วยงานที่มีงบประมาณด้านเด็กทั้งรัฐและเอกชน ต้องทำงานร่วมกันตามนโยบายและยุทธศาสตร์ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะพบว่างบประมาณทั้งหมดที่มีถูกใช้ได้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 50และลงถึงตัวเด็กจริงเพียงแค่ร้อยละ 10

 

ที่มา : สยามรัฐ

ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th

update 28-04-51

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ