เด็กไทยกิจกรรมทางกายน้อย แนะคนกรุงหมั่นดูแลสุขภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะการกินอาหารที่มากเกินไป รวมทั้งขาดการทำกิจกรรมทางกายที่นำมาโดยโรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพาต อัมพฤกษ์ ที่ทำให้คนบนโลกนี้เสียชีวิตไปมากที่สุด และยิ่งนับวันคนไทยก็มีความเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการ "ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่กรุงเทพมหานคร" ที่ต้องการออกเตือนประชา ชนให้ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จัดโดยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 13 โดยความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ในฐานะคณะกรรมการเขตสุขภาพฯ เขตพื้นที่ 13 กล่าวว่า จากข้อมูลประชากรกรุงเทพฯ ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2560 พบว่า โรคที่น่าจับตาจากการเข้ารักษาโดยใช้สิทธิ์บัตรทองย้อนหลัง 2 ปี อันดับ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง อันดับ 2 ความผิดปกติทางเมตะบอลิก อันดับ 3 เบาหวาน และอันดับ 4 ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน และอันดับ 5 โรคข้อ และยังพบว่าคนกรุงเทพฯ ออกกำลังกายน้อยกว่าคน ภาคอื่นๆ แต่ที่น่ายินดีคือ สัดส่วนคนไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุราน้อยลง โดยคนที่สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 20 เคยได้รับการปรึกษาเรื่องลด ละ เลิกบุหรี่จนสำเร็จ
นอกจากนี้ จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557-2558 พบว่า ผู้ชายในกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วนสูงสุด ขณะที่ผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนไม่ต่างกับผู้หญิงในภูมิภาคอื่นๆ คนกรุงเทพฯ บริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอต่อวันเพียงร้อยละ 22 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดรองจากภาคเหนือที่มีร้อยละ 13 ส่วนความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 23 และโรคเบาหวาน ร้อยละ 8
"การพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่กรุงเทพฯ จึงมีแนวทางที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ ข้อ 1 พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ กทม. เพื่อเห็นภาพรวมของปัญหาสุขภาพคนกรุงเทพฯ สำหรับจัดทำแผนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพจริง ข้อ 2 มีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่กระจายตัวครอบคลุมเขตพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานบริการสุขภาพ ข้อ 3 ลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งการบริโภคผัก-ผลไม้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายน้อยที่ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และข้อ 4 ลดอุบัติเหตุทางถนน" นพ.ชาญวิทย์กล่าว
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพต้องให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และในอนาคตจะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) อีก 50 เขต เพื่อทำงานเชื่อมโยงกัน โดย กทม.ได้ตั้งเป้าหมายปลอดโรคยอดฮิตของคนเมือง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพจิต ทั้งการฆ่าตัวตาย ความเครียด โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคติดต่อจากไข้เลือดออกและวัณโรค และโรคในผู้สูงอายุ มีอาหารปลอดภัยสำหรับการบริโภค และมีความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับมหานครแห่งอื่นๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเรื่องสุขภาพเด็กไทยที่น่ากังวลอีกงานหนึ่ง ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนา "เกณฑ์คุณภาพการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กวัยเรียน" โดยพบว่าเด็กวัยเรียนมีปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน รวมทั้งมีกิจกรรมทางกายน้อยมาก
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอของเด็กวัยเรียน ก่อให้เกิดภาวะเด็กเริ่มอ้วน เด็กอ้วน เด็กเตี้ยเริ่มอ้วน เด็กเตี้ยอ้วน เด็กผอม เด็กไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบของโรคอ้วนจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยรวมในอนาคต ซึ่งสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพของเด็กวัยเรียนปัจจุบันพบว่า ปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนอยู่ที่ร้อยละ 11.4 สูงดีสมส่วนเพียงร้อยละ 65 รวมทั้งปัญหาการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อยมาก เพียงร้อยละ 27 ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่จะขัดขวางการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
"กระบวนการส่งเสริมให้เด็กสูงสมส่วน แข็งแรง และมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอนั้น จำเป็นที่ต้องอาศัยการกระโดดโลดเต้น เล่นสนุกจนรู้สึกเหนื่อยหรือหอบ อย่างน้อยวันละ 60 นาที ทุกวัน ร่วมกับการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อวันเว้นวัน ฝึกความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารครบหมู่ ดื่มนมวันละ 2 แก้ว เพิ่มไข่วันละ 1 ฟอง และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน โดยครู บุคลากรสาธารณสุข ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และในส่วนของการทำกิจกรรมทางกายควรมีผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ใกล้ตัวเด็ก และเด็กสามารถเข้าถึงการทำกิจกรรมทางกายได้ง่าย สนุก ท้าทาย และไม่โดนบังคับ จะทำให้เด็กออกกำลังกายได้นานขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งหากขาดความสนุกสนาน เด็กจะเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากทำกิจกรรมทางกาย และกลับเข้าสู่สภาวะเนือยนิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ" นายแพทย์อรรถพลกล่าว
ด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินการแก้ปัญหาเด็กทำกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและปัญหาเด็กอ้วนด้วยโครงการโชป้า แอนด์ ชายด์ป้า เกมส์ ลดเรียน เพิ่มรู้ สู่อาเซียน โดยพัฒนานวัตกรรมออกกำลังกายสำหรับเด็ก จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ จิงโจ้ยืดตัว จิงโจ้ FUN for FIT และเก้าอี้..ขยี้พุง ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย นำร่องปี 2559 ได้เริ่มพัฒนาโรงเรียนต้นแบบและขยายผลต่อเนื่องในปี 2560 ไปยัง 4,600 โรงเรียน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลโรงเรียน ร้อยละ 100 ชื่นชอบ เห็นคุณค่าต่อการเข้าร่วมโครงการ และเสนอแนะให้มีการขยายสู่โรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งขยายสู่ผู้ปกครองและชุมชนด้วย เด็กที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 97.8 มีความสุขและสนุกกับการร่วมทำกิจกรรม เด็กที่เป็นโรคหอบหืด นอนกรน ภูมิแพ้ หวัด มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการปวดเมื่อย ลดลง และนอนหลับสนิทขึ้น และในปี 2561 นี้ ได้จัดทำเครื่องมือเพื่อพัฒนาในเชิงคุณภาพต่อไป
"ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือและระดมความคิดในการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพ การดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กวัยเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเครือข่ายใช้ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามบริบทและบรรลุเป้าประสงค์ โดยเด็กวัยเรียนมีกิจกรรมทางกายเหมาะสมเพียงพอ เจริญเติบโตเต็มศักยภาพและมีทักษะสุขภาพ ภายใต้กระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กไทยสูงสมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี อย่างมีคุณภาพต่อไป" ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพกล่าว
สถานการณ์ของโรคร้ายได้เริ่มเข้ามาเตือนแล้ว ถึงเวลาที่ทุกคนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้น