เด็กไทยกว่า4แสน หยุดเรียนเพราะฟันผุ
กรมอนามัยเผย ดื่มน้ำอัดลมมากส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก อ้วน ต้นตอทำฟันกร่อน แนะหน้าร้อนเครื่องดื่มดีที่สุดที่ร่างกายต้องการคือน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจึงทำให้รู้สึกกระหายน้ำ การดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานหรือน้ำอัดลมจึงเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ทั้งๆ ที่เครื่องดื่มที่ดีและเหมาะสมกับร่างกาย คือ น้ำเปล่า เพราะมีส่วนช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยชะลอความแก่ เพิ่มความชุ่มชื่นแก่ผิว ช่วยให้ระบบย่อยในกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ไตแข็งแรง โดย 1 วันควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
ในทางตรงกันข้าม หากเลือกดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลมแทนน้ำเปล่าจะส่งผลเสียแก่ร่างกาย ได้แก่ โรคฟันผุ โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะ เนื่องจากน้ำหวานชนิดอัดลมมีกรดคาร์บอนิกค่อนข้างมาก ซึ่งสารดังกล่าวจะกีดขวางการดูดซึมแคลเซียมของกระดูก การดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะร่างกายจะหลั่งสารอินซูลินออกมามากเกินจำเป็น ซึ่งในระยะยาวร่างกายจะผลิตอินซูลินได้น้อยลง จนทำให้เกิดโรคเบาหวานโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ น้ำอัดลม 1 กระป๋อง (ขนาด 325 ซีซี) มีปริมาณน้ำตาล 8-12 ช้อนชา จะเท่ากับน้ำตาลในลูกอม 17 เม็ด ส่วนเยลลี่ 1 ถ้วยเล็กจะมีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม หากกินรวมกันหลายอย่างอาจทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย และ เกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าร่างกายควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมต่อวัน หรือปริมาณ 6 ช้อนชา
"น้ำอัดลมยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดฟันกร่อนได้มากที่สุด เพราะมีส่วนประกอบคือน้ำตาลกับน้ำ หากไม่มีการทำความสะอาดช่องปากและฟัน จะก่อให้เกิดฟันผุได้ จากผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพประเทศไทยครั้งที่ 7 พ.ศ.2555 พบว่าเด็กเล็กอายุ 3 ปี, 5 ปีมีฟันน้ำนมผุร้อยละ 52 และ 79 เด็กวัยเรียนอายุ 12 ปี, 15 ปี มีฟันแท้ผุร้อยละ 52 และ 62 กลุ่มวัยทำงานและสูงอายุมีฟันผุร้อยละ 87 และ 97
สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปากของประชาชน และพฤติกรรมบริโภคของเด็กที่นิยมกินอาหารหรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุแล้ว ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อและสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร มีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโตและบุคลิกภาพ ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียนถึงปีละประมาณ 400,000 คน และปัญหาฟันผุยังนำไปสู่การสูญเสียฟันที่เริ่มต้นในวัยเด็ก และสะสมจนกลายเป็นสูญเสียฟันทั้งปากจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ในวัยสูงอายุ”
ด้าน ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หากจะเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือน้ำอัดลมควรจำกัดปริมาณการดื่มในแต่ละวัน โดยน้ำหวานเพียง 1 แก้ว (ปริมาตร 200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่ควรจะได้รับต่อวัน และควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดอื่นๆ ที่มีการเติมน้ำตาลอีกด้วย เช่น ขนมหวาน ลูกกวาด ฯลฯ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในแต่ละวันเกินจำเป็นจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ ควรแปรงฟันให้สะอาดทั่วถึงทั้งในตอนเช้า หลังอาหารกลางวัน และก่อนนอน ด้วยวิธีง่ายๆด้วยสูตร 2 2 2 คือแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้ทั่วทุกซี่ทุกด้านนาน 2 นาที แปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ไม่ควรกินอาหารหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาปากสะอาดนานที่สุด และยังป้องกันโรคฟันผุในระยะยาวอีกด้วย
ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต