เด็กเฮ้วจัดหนัก คิดต่าง ดึงเยาวชนทำสื่อ
ต้องเป็นเรื่องจริงหรืออ้างอิงมาจากของจริง ต้องนำเสนอเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียดหลายแง่ หลายมุม ( on subject – one topic) ต้องถ่ายทอดความจริงอย่างสร้างสรรค์ ต้องให้มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ร่วมของผู้ชมนี่คือลักษณะเด่นของ“หนังสารคดี”
ซึ่งเมื่อพูดถึงหนังสารคดี รู้ไหมว่า หนังสารคดีเรื่องแรกของไทย เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2468 โดยบริษัทparamount มี merian c. cooper เป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ มี ernet b. schocdsack เป็นช่างภาพ ออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ช้าง’’ เมื่อถ่ายทำเสร็จได้นำออกฉายครั้งแรกที่อเมริกาในปี พ.ศ.2470 และนำกลับมาฉายในประเทศไทยในปี พ.ศ.2471 ทำให้คนไทยไม่นับว่านี่เป็นหนังไทย กระทั่งปี พ.ศ.2537 ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ถูกนำมาบูรณาการใหม่ ใส่เสียงประกอบโดย “วงฟองน้ำ” และกลับมาฉายอีกครั้งในประเทศไทย
มาวันนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สื่อสารคดีสั้น“โครงการนักผลิตสื่อและสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ (เด็กเฮ้ว โปรเจ็กต์)”ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ, โครงการปิ๊งส์, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ด้วยการชวนนักเรียนนักศึกษาอายุ 15-25 ปี มาร่วมออกไอเดียสร้างสรรค์สังคมในประเด็น “บุหรี่ =ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” ขึ้น ในการประกวดครั้งนี้มีน้องๆ ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 26 ทีมด้วยกัน ซึ่งการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
ในการทำหนังสารคดีสั้นนั้น อ.ดร.ประภาส นวลเนตร สาขาวิชานวัตกรรมสื่อสารมวลชน การกระจายเสียงและแพร่ภาพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า หนังสารคดีแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ1.documentaryเป็นการใช้ภาพและเสียงของบุคคลจริงในเหตุการณ์ จะเรียกว่า สารคดีเชิงวิเคราะห์ (documentary) และสารคดีเชิงข่าว(newsdocumentary)2.featureการใช้ภาพและเสียง สมมุติด้วยการแสดงแทน จะเรียกเป็นสารคดีทั่วไป (general feature), สารคดีท่องเที่ยว (touring feature)หรือสารคดีเนื่องในโอกาสพิเศษ (specialoccasion feature) โดยการทำหนังสารคดีสั้น ประเด็น “บุหรี่ =ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” จะเน้นการใช้ภาพและเสียงของบุคคลจริงในเหตุการณ์ จะเรียกว่าสารคดีเชิงวิเคราะห์ หรือสารคดีเชิงข่าวก็ได้ ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ผลงานและประสบการณ์ของเยาวชน และทุกกระบวนการทำงานจะมีอาจารย์และพี่เลี้ยงคอยดูแลเพื่อให้คำปรึกษาตลอดโครงการ ทั้งยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “tv documentary production” หนังสารคดีสั้นทางโทรทัศน์ อย่างการเขียนบท รูปแบบ การเล่าเรื่อง และกระบวนการผลิต หนังสารคดีสั้นจากนางสาวภัทราพร สังข์พวงทอง ผู้ดำเนินรายการ “กบนอกกะลา” บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด และนายธีรภาพ โลหิตกุลนักเขียนสารคดีอิสระ ตามมาด้วยการฝึกอบรมการตัดต่อภาพและเสียงสำหรับหนังสารคดีสั้น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้แบบใกล้ชิด
นางสาวภัทราพร สังข์พวงทอง บอกว่า “เด็กเฮ้ว”เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาเอง ได้ใช้ความรู้ความสามารถแบบสมวัย เพราะจริงๆ แล้วเด็กและเยาวชนเป็นช่วงวัยที่มีพลัง มีความอยากแสดงออก มีความกล้า มีความมั่นใจ แต่เวทีแบบนี้ในประเทศหรือในสังคมบ้านเรายังไม่มีความหลากหลายพอ ทว่าวันนี้เด็กเฮ้วกลับคิดต่าง อยากให้เด็กๆ ทั้งประเทศได้รู้จักและมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ซึ่งการทำหนังสารคดีสั้นที่สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของสุขภาวะให้ออกมาน่าสนใจ เรื่องนั้นๆ จำเป็นต้อง 1.มาจากวิธีคิดและความเชื่อเป็นหลักว่า ต้องดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง มีประโยชน์ และมีคุณค่าที่น้องๆ จะได้มีโอกาสสัมผัส เรียนรู้ด้วยตัวเองในช่วงวัยที่สามารถทำได้ 2.เนื้อหาของสื่อที่กำลังผลิต หรือหนังสารคดีนั้นต้องเป็นเนื้อหาที่ดีและมีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถในการทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและคนอื่นไปในเวลาเดียวกัน
“สารคดีใครๆ ก็ทำได้ ไม่ยากหรอก แต่จะทำให้ดี มีคุณภาพทำให้มีคนดู ทำให้มีคนชื่นชมแล้วโดนใจอาจจะยากสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตามมันก็คงไม่ยากเกินไปที่จะทำ”
ผู้ดำเนินรายการ “กบนอกกะลา”บอกเพิ่มว่า การทำสารคดีเป็นเรื่องกว้างต้องมีการผสมผสานกันของ 2 อย่างคือ 1.มีความรู้ และ 2.มีศิลปะ เป็นนักคิด เป็นนักวิชา กับเป็น ศิลปินที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว คนที่จะทำสารคดีได้ดีและน่าสนใจได้ต้องทำการบ้านเยอะๆ มีความรู้รอบตัวสูงๆ อ่านหนังสือ เสพสื่อ เล่นอินเตอร์เน็ตมากๆ มีมุมมองที่แตกต่างหลากหลายจึงจะสามารถทำให้เรื่องธรรมดาที่มีอยู่ชีวิตธรรมดาให้กลายมาเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจขึ้นมาได้ หัวใจของสารคดีคือเนื้อหาที่น่าสนใจ เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยเนื้อหาที่ไม่น่าสนใจแล้วต่อให้คุณภาพของโปรดักชั่นมากแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ หรือดูแล้วจะจำอะไรไม่ได้นอกจากเรื่องนี้ “สวย” เท่านั้นเอง
ด้านนายธีรภาพ โลหิตกุล บอกเสริมว่า คนที่จะสามารถทำหนังสารคดีให้ดีได้นั้นนอกจากต้องศึกษาข้อมูลความจริงที่เป็นความรู้ แล้วยังต้องต้องมีจินตนาการในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งหัวใจของการนำเสนอหนังสารคดีให้น่าสนใจได้นั้น 1.ประเด็นต้องน่าสนใจ และ 2.วิธีการนำเสนอต้องดูสนุก และมีคุณค่า เมื่อนำไปเผยแพร่แล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างใหญ่หลวงได้เพราะหนังสารคดีที่เยาวชนคิดนั้นเมื่อมีการค้นหาข้อมูล ข้อเท็จจริงมาประกอบ เนื้อเรื่องจะมีความน่าสนใจ มีความรู้ มีคุณค่า แฝงอยู่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่รับสารที่ต้องการสื่อนั้นออกไปได้
ส่วนน้องโต้ง นายอนันตชัย คำแสนราช อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกะเปอร์วิทยา จ.ระนอง ผู้กำกับหนังสารคดีสั้นประเด็นบุหรี่ ทีมหมู ฉึก ฉึก บอกว่า หนังสารคดีเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากเรื่องจริง ประสบการณ์จริงๆ ถ้าเกิดวัยรุ่นได้ดูก็จะเห็นว่าปัญหาเกิดจากอะไร และทำไมถึงต้องเลิก อย่างเรื่องที่จะทำเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเองมีแนวคิดเน้นไปยังวัยรุ่นซึ่งเป็นเยาวชนที่ติดบุหรี่ เมื่อโตขึ้นก็มีเพื่อนชักชวนให้เสพยาเสพติดโดยเริ่มจากกระท่อม และสูบบุหรี่ตามมา ซึ่งเรื่องของบุหรี่เป็นปัญหาใหญ่มากและมีสถิติวัยรุ่นสูบต่อเนื่องกันทุกปี จึงนำมาเสนอเพื่อต้องการให้สังคมไม่เพิกเฉยต่อการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น และควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที
นี่คือส่วนหนึ่งของสื่อสารคดีสั้นของ“โครงการนักผลิตสื่อและสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ (เด็กเฮ้ว โปรเจ็กต์)”สามารถติดตามผลงานหนังสารคดีทั้ง 20 กว่าเรื่องนี้ได้เร็วๆ นี้ และติดตามผลงานไอเดีย “100 เรื่องเล่าแห่งแรงบันดาลใจ” ในรูปแบบหนังสารคดี เรื่องสั้น และnew mediaจาก 3 หัวข้อ เลิกบุหรี่, เลิกแอลกอฮอล์ และจิตอาสาสำนึกพลเมือง ที่อยู่ในโครงการ “เด็กเฮ้ว”ได้ที่www.facebook.com/dekhealth.project
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย สมุทรอักษร