เด็กสะท้อน ‘ปัญหาสังคม’ ผ่าน ‘นิทรรศการ’ ผลงานสื่อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล
ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี และครั้งนี้ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 สำหรับนิทรรศการผลงานสร้างสรรค์สื่อสะท้อนปัญหาสังคม "UNC The Exhibition 2018" จัดขึ้นที่บริเวณ Helix Garden ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) วันที่ 26-28 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
พร้อมนำเสนอผลงานของนิสิตนักศึกษา 12 มหาวิทยาลัย จำนวน 23 ผลงาน ที่มาร่วมพลังสร้างสื่อสะท้อนปัญหาสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2.ประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม 3.ประเด็นปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ศิลปะรับใช้ชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน 4.ประเด็นปัญหาเรื่องของ อาหารวันนี้
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากการริเริ่มร่วมกันระหว่าง สสส. สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งประเทศไทย) ภาคประชาสังคม และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อที่จะไปหนุนเสริมการเรียนการสอนของแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยให้มีความหมายมากขึ้น ด้วยการสะท้อนปัญหาต่างๆ ผ่านสื่อ
"น้องๆ ต้องไปเห็นงาน ลงพื้นที่ และไปโดนใจกับอะไรซักอย่าง แล้วผลิตชิ้นงาน พอผลิตออกมาแล้วก็ต้องอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ ซึ่งบางคำวิจารณ์ก็เจ็บจี๊ดในใจ บางคนก็เกือบจะทนไม่ไหว แต่ต้องบอกว่านั่นคือชีวิตจริง ถ้าชีวิตจริงน้องๆ นักศึกษาสามารถทนคำวิจารณ์ของลูกค้าไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้านทำงานศิลปะของตัวเองไป แต่ถ้าเรายอมอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ ของเพื่อนได้ และของลูกค้าได้ เราก็จะเติบโตและงานของเราก็จะตอบโจทย์ลูกค้าได้" ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าว
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ นักบริหารแผนงานชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและมีพลังมากๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สสส.เองมองเห็นว่าการที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงสังคม ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการไปพัฒนานักศึกษา สุขภาวะ หมายรวมถึงทุกๆ คนที่มีดิจิตอลแพลตฟอร์มอยู่ในมือ และมีทักษะการสื่อสารอยู่ในมือ และจะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม
"สสส.เน้นมากที่จะพัฒนาศักยภาพบุคคลเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจรรโลงสังคม ศิลปะและการออกแบบและการสื่อสารเอง ในมุมมองของเราเองคิดว่านอกเหนือจากการไปแก้ปัญหาสังคมแล้ว หัวใจของศิลปะของเขาคือการพัฒนาตัวผู้สร้างสรรค์เองเกิดการเชื่อมโยงเข้ากับสังคม รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นพลเมืองของสังคมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้" นักบริหารแผนงานชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าว
ด้านกลุ่มตัวแทนนักศึกษาที่นำเสนอผลงานได้สะท้อนผลงาน เริ่มต้นที่ นางสาวซัลมา เป็นสุข จากสาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องของอาหารวันนี้ ภายใต้ผลงาน "หิวมานิห์" ว่า ดีใจมากเพราะได้รู้อะไรใหม่ๆ ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ ได้เห็นงานของเพื่อนๆ ได้แลกเปลี่ยนงานกัน และที่สำคัญได้นำเสนอปัญหาเผยแพร่ให้กับสังคมได้รับทราบ
นายฐิติวัสส์ ธรรมะ นักศึกษาสาขานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนผลงาน สื่อให้รู้ สู่ที่ทิ้ง (ขยะ) ประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ รณรงค์ขยะที่ชายหาดบางแสน ร่วมสะท้อนว่า โครงการนี้ทำให้เราได้มีพื้นที่จัดแสดงงาน ก่อนหน้านี้คิดว่างานของเราเจ๋งแล้ว แต่พอได้มางานและเห็นผลงานของคณะหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็รู้สึกว่าผลงานของคนอื่นมันก็ยอดเยี่ยมเช่นกัน จึงทำเกิดแรงขับเคลื่อนเพื่อกลับไปทบทวนและพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น
"กลุ่มของเราทำเรื่องเกี่ยวกับขยะ ที่หาดบางแสนมีขยะเยอะมาก นักท่องเที่ยวมา ขยะก็จะเยอะตลอด ถังขยะมีเพียงพอ แต่ขยะก็เกลื่อนไปหมด เลยคิดว่าในสายที่เรียนสามารถทำอะไรที่จะนำไปใช้กับชุมชนได้บ้าง ก็เลยทำข้อมูลกราฟฟิก เพื่อบอกข้อมูลกับนักท่องเที่ยว หวังใช้เป็นแนวทางลดปริมาณขยะลง" นายฐิติวัสส์กล่าว
น.ส.สุพิชชา วนาภรณ์ นักศึกษาสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนประเด็นปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ศิลปะรับใช้ชุมชน การท่องเที่ยว ผ่านผลงาน "พินิจ พิศ ณุโลก" เป็นการสื่อสารการออกแบบสื่อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งความรู้ด้านวัฒนธรรมในเขตเมืองและจังหวัดพิษณุโลก โดยผลิตสื่อแผนที่บอร์ดเกมและแผ่นโบรชัวร์
"กลุ่มเราต้องการที่จะให้คนมาท่องเที่ยวได้รู้ว่าจังหวัดพิษณุโลก มีสถานที่เที่ยวอะไรบ้างที่ unseen ที่นักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก เพื่อเป็นการช่วยชุมชนอีกทางหนึ่ง สิ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้และเอาไปใช้ได้จริงคือได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้นำความคิดของคนหลายคนมาเป็นไอเดียเดียวกัน และคิดว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่น ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย และมีแนวคิดเพิ่มว่านักศึกษาเองมีหน้าที่ที่จะช่วยชุมชน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน"
ด้าน ดร.บุญชู บุญลิขิตศิริ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์สาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยบูรพา สะท้อนถึงการส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมว่า สิ่งที่เห็นแล้วรู้สึกดีใจก็คือเด็กเถียงกันในห้อง แต่เถียงกันบนฐานของข้อมูลเพื่อเอาข้อมูลมาคุยกัน
"ยกตัวอย่างเด็กของมหาวิทยาลัยบูรพา เริ่มจากการทำประชาพิจารณ์กันก่อนว่า ในพื้นที่อะไรสำคัญที่สุด สุดท้ายได้เรื่องขยะมาซึ่งมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ทุกคนก็รู้ว่าขยะที่บางแสนมันเยอะมาก เขาก็ไปเก็บข้อมูลกัน พอเขาได้ข้อมูลมา เขามาทะเลาะกันในห้อง ทะเลาะกันด้วยข้อมูล ข้อมูลแต่ละคนเก็บมาไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็ต้องเอามาพิสูจน์ สังเคราะห์ จนได้ข้อมูลชุดหนึ่งและนำมาทำงานต่อไปจนจบภารกิจ" รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและวิเทศสัมพันธ์ฯ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวปิดท้าย
นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนของพลังนักศึกษา ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านนิทรรศการสื่อเพื่อแก้ปัญหาสังคมต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามผลงานดังกล่าวได้ที่ www.scbfoundation.com/ และเฟซบุ๊ก UniversityNetworkforChange/