‘เด็กปฐมวัย’เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสุด
สสค. สนับสนุนการสร้างเสริมเด็กระดับประถม เพราะหากเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้คุณลักษณะที่ดี
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวโครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็ก และเยาวชน โดยคัดเลือกโรงเรียนประถมศึกษาทุกสังกัด ที่เคยทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ปฏิรูปการศึกษาปัจจุบันเป็นการลงทุนที่สวนทางกับความเป็นจริง
งานวิจัยของนายไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. เกี่ยวกับรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศพบว่า ในระดับประถมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาสในปี 2553 งบประมาณการศึกษาต่อหัวที่รัฐบาลลงทุนต่อเด็กมัธยม และอาชีวะนั้น สูงกว่าการลงทุนในระดับปฐมวัย โดยลงทุนระดับปฐมวัยเพียง 23,282 บาท ขณะที่มัธยมและอาชีวะจำนวน 26,332 บาท และ 24,933 บาท ตามลำดับ ทั้งที่การลงทุนระดับปฐมวัยจะได้กำไรคืนกลับถึง 7 เท่า จึงเป็นการลงทุนที่คุ้ม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในระดับประถม เพราะสมองเด็กจะเติบโตทั้งไอคิว และอีคิว ในระดับปฐมวัยสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์
“การจัดการศึกษาต้องเลิกระบบสอบแข่งขันเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์คะแนนโอเน็ต และพิซ่าสูงๆ แต่ต้องจัดการศึกษาให้เด็กมีความสุข ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ที่ผ่านมารัฐลงทุนไปที่ระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ตรงเป้าหมาย เรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การลงทุนทางการศึกษากับเด็กปฐมวัยใน 3 ระบบ 1.การศึกษาในระบบ คือโรงเรียนขนาดเล็ก ด้อยโอกาส 2.โรงเรียนพ่อแม่ ต้องสอนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ และ 3.โรงเรียนชุมชนที่มีพื้นที่เสี่ยงมีอบายมุข การลงทุนช่วงปฐมวัยสามารถประกันอนาคตได้” นายสมพงษ์ กล่าว
ด้าน นายอุบล เล่นวารี ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ สสค. และมูลนิธิร่มฉัตร ดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.การส่งเสริมสมรรถนะการอ่าน 2.การสนุกกับการเรียนรู้ และ 3.การสร้างเสริมคุณลักษณะที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจในระดับประถม เพราะหากเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้คุณลักษณะที่ดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก