‘เด็กนาต๋ม’ ปลูกผักรักษาโรงเรียน
ที่มา : แฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ภาพประกอบจากแฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ปกครองต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องในครอบครัว เวลาเอาใจใส่ลูกๆ จึงลดลง และส่วนหนึ่งได้ผลักภาระไปให้โรงเรียน เช่น เลือกโรงเรียนที่มีรถรับ-ส่งนักเรียนฟรี เรียนฟรี หรือมีสิ่งสาธารณูปโภครองรับมากกว่า จะได้ไม่เสียเวลารับส่งบุตรหลานด้วยตนเอง ขณะที่ส่วนหนึ่งก็คุมกำเนิด ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก ส่งผลให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายๆ แห่ง ถูกยุบ เพราะจำนวนนักเรียนมีน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
คณะกรรมการโรงแรียนและครูจึงคิดหาแนวทางเพื่อรักษาโรงเรียนไว้ แนวทางหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน คือการดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวนักเรียนเอง เมื่อผลสรุปได้ดังนี้ทางคณะครูจึงเลือกทำกิจกรรมที่จะปรับทัศนะของเด็กๆ ในด้านโภชนาการ
กิจกรรมหลากหลายจัดทำขึ้นทุกอย่างควบคู่กันไป ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การปลูกผัก และนำผักที่ปลูกเองมาทำอาหาร แม่ครัวปรับเมนูอาหารให้เมนูผักเป็นที่น่ารับประทาน ครูและผู้ปกครอง คอยดูแลการรับประทานอาหาร ให้มีผักผลไม้ ทั้งที่โรงเรียนและบ้าน ปริมาณการเขี่ยผักผลไม้ทิ้งก็น้อยลง และสังเกตพบว่าผักที่เด็กชอบ คือ ผักบุ้ง ผักกาด ถั่วงอก
ผลได้ที่ตามมา คือในปีการศึกษาใหม่นี้ มีเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 48 คน เนื่องจากผู้ปกครองเห็นว่าเด็กในโรงเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้าน และครูก็เอาใจใส่อย่างจริงจัง
การทำให้เด็กกินผัก นอกจากครู และผู้ปกครอง ต้องคอยกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอแล้ว การให้พี่คอยติดตามดูแลน้อง หรือเพื่อนติดตามเพื่อน ว่าบริโภคผักผลไม้หรือไม่ อย่างไร ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างมาก เด็กจะคอยบอกว่าใครกินผัก ใครไม่กินผัก คนที่ไม่กินผักจะรู้สึกอาย และค่อยๆ ปรับตัว จนสามารถกินผักได้โดยปริยาย
นอกจากนี้การได้ปลูกผักเอง ได้ดูแลรดน้ำพรวนดิน เฝ้ามองการเจริญเติบโตของผัก ก็ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของผักมากขึ้น และบางโครงงานแม้จะไม่ใช่การปลูกผักโดยตรง หากในการนำมาประกอบอาหาร ก็ต้องใช้ผักเป็นส่วนประกอบ อาหารเกือบทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กับผักทั้งสิ้น รวมถึง “ผัก” ที่โรงเรียนนาต๋ม ยังช่วยให้โรงเรียนไม่ถูกยุบอีกด้วย