‘เด็กติดมือถือ’ แก้ (ไม่) หาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"เด็กติดโทรศัพท์มือถือ"ก็เป็นประเด็นที่ในสังคมไทยให้ความสนใจมากขึ้น แต่ดูเหมือนการแก้ปัญหายังไม่มีระบบที่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ดี ที่ ชุมชนบ้านป่าเป้า ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน ที่นี่แม้จะเป็นชุมชนที่ห่างไกล แต่ก็ประสบปัญหา "เด็กติดโทรศัพท์มือถือ" มากเช่นกัน และที่นี่…มีแนวทางเกี่ยวกับการ "ปลุกภูมิคุ้มกันปัญหา" ที่น่าพิจารณา…บ้านป่าเป้า หลังจากได้รับการสนับสนุนเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะในหมู่บ้านฟรี แทนที่จะมีประโยชน์ด้านเดียว ก็กลับเป็น "ดาบสองคม" เมื่อเด็ก ๆ มัวแต่ออกไปเล่นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเช้าจดเย็นถึงดึกดื่นไม่ยอมกลับบ้าน
"หากปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไป คงไม่ดีกับเด็ก ๆ และชุมชนในระยะยาวแน่นอน ซึ่งเด็ก ๆ พวกนี้เหมือนเป็นอนาคตของชุมชน ดังนั้น จึงต้องทำอะไรสักอย่าง" …เสียงจาก อำนวย สารเถื่อนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าเป้า ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน ระบุถึงการต้อง "แก้ปัญหาเด็กติดโทรศัพท์มือถือ" ในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
สิ่งนี้ทำให้ ผู้ใหญ่อำนวย ได้นำปัญหาเข้าหารือกับ สภาผู้นำของหมู่บ้าน เพื่อหาทางออก และในที่สุดก็สรุปตรงกันว่า "ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ ผ่านความเข้มแข็งของครอบครัว" เพราะเชื่อว่า ถ้าพ่อ แม่ ลูก สมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน และได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ทอดทิ้งใครคนใดคนหนึ่ง ครอบครัวก็จะเข้มแข็ง ก็จะช่วยกันบอกกล่าวดูแลให้เด็ก ๆ จัดสรรเวลาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
นอกจากนี้ ทางชุมชนยังได้เข้าร่วม โครงการสร้างเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดกิจกรรม และกระบวนการสานสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย
ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าเป้ามองการแก้ปัญหานี้ว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน หรือพ่อแม่ ที่ต้องให้เวลากับลูกให้มาก มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ได้พูดคุยกัน สร้างความรักความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะ…ถ้าไม่มีอะไรให้ทำ…เด็กก็จะกลับไปติดโทรศัพท์มือถืออีก!! โดย ทุกวันจันทร์ทางหมู่บ้านจะมีการจัดกิจกรรมผู้นำพบปะเยาวชนโดยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะมาพูดคุย ให้คำปรึกษากับเด็ก ๆ ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะรู้สึกว่า ผู้ใหญ่ในชุมชนยังรัก และสนใจในตัวเขา ดังนั้นเวลาจะเตือนอะไรไป เด็ก ๆ ก็จะเกรงใจผู้ใหญ่
"สิ่งสำคัญคือ ต้องปลูกฝังจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทำงานเพื่อสังคม ให้เด็กเรียนรู้ร่วมกัน รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง รู้จักชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเอง นำมาซึ่งความอบอุ่นในครอบครัว ที่จะส่งผลดีต่อชุมชน" ภายในบ้านของแต่ละครัวเรือน ทางสภาผู้นำได้มีการกระตุ้นให้ทุกหลังคาเรือนมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรม "ตัวหนังสือแทนเรื่องเล่า" ที่ถือเป็นหนึ่งในวิธีจัดการปัญหาด้วยเชิงสัญลักษณ์ ด้วยเชื่อว่า บางครั้งเมื่อเด็กมีปัญหาจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าปรึกษาพ่อแม่ เพราะกลัวจะโดนดุ
แต่ถ้าคนในบ้านแสดงบทบาท เป็นทั้งพ่อแม่ และเพื่อนที่สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง เด็กก็จะกล้าเปิดใจ ซึ่งในกิจกรรมนั้นแม้เด็กไม่ กล้าพูดตรง ๆ แต่ก็ให้เด็กได้เขียนปัญหา หรืออยากจะเล่าเรื่องอะไรให้พ่อแม่ฟังก็เขียนลงบนกระดาน "ต้นไม้สารภาพ" โดย วิธีการนี้พ่อแม่ก็จะได้รับรู้ปัญหา และให้คำปรึกษากับเด็กได้ หรือกับ กิจกรรม "จดหมายถึงตัวเอง" นี่ก็ให้เด็กได้เขียนในสิ่งที่อยากเขียน อยากระบายความในใจ เพื่อเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ในใจของพวกเขา
กิจกรรม "นกกระดาษสามสี" โดย สีชมพู แทนเรื่องส่วนตัว, สีเหลือง แทนการเรียน, สีฟ้า แทนเรื่องเพื่อน กิจกรรมนี้เมื่อลูกพูดคุยกับครอบครัวทุกวัน มีเรื่องไหนบ้างก็ให้พ่อแม่หย่อนนกกระดาษสีตามเรื่องที่ได้รับฟังลงโหลแก้วไว้ เมื่อครบหนึ่งเดือนก็นำมาดูกันว่า ลูกมีปัญหาด้านไหนที่สุด เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการอยู่ใกล้ชิดและเฝ้าระวังลูกมากยิ่งขึ้น
บุณยวีร์ กาวีน ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า การ "เปลี่ยนเล่นเป็นเรียนรู้" ยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อ ส่งเสริมให้เด็กได้มีกิจกรรม ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับพ่อแม่ หรือด้วยของเล่นที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ เสริมทักษะ และสร้างปัญญา โดยมีอุปกรณ์ของเล่นที่มีประโยชน์เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ยืมไปเล่นที่บ้านกับพ่อแม่หรือเพื่อน ๆ ได้ เช่น เกมบิงโก โดมิโน่ เกมเศรษฐี เป็นต้น โดยในส่วนของพ่อแม่ก็จะบันทึกกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับลูกของตนเอง
"เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน ว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวที่อบอุ่นช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เด็กได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัยก่อน 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุ่มเสี่ยงในหลาย ๆ อย่าง"…ทางผู้รับผิดชอบโครงการนี้ระบุไว้ พร้อมทั้งยังบอกเล่าว่า…
เมื่อลงไปสัมผัสถึงกิจกรรมภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวสายยืน ทุก ๆ เย็นทาง พยอม สายยืน ผู้เป็นแม่ จะนั่งพูดคุยถามไถ่ อมลวรรณ สายยืน ลูกสาว ขณะนั่งทำการบ้านอยู่เสมอ รวมถึงทำกิจกรรม "นกกระดาษสามสี"
กิจกรรมนกกระดาษสามสี ทำให้ได้รู้ปัญหาของลูก ว่าลูกไปโรงเรียนแล้วเจอปัญหาอะไรมาบ้าง เวลากลับมาบ้านก็จะมาเล่าให้ฟัง ฟังเรื่องราวแล้วก็หยอดนกกระดาษสีที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อจะได้บันทึกว่าลูกมีปัญหาอะไรบ้าง "เราไม่ได้ไปดุไปว่า เราคุยเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้เขา เวลาเขาอยากปรึกษาอะไรก็จะกล้าเปิดใจคุยกับเรา ทำให้บรรยากาศครอบครัวอบอุ่นขึ้นมาก ๆ" …พยอม คุณแม่รายนี้กล่าว
เช่นเดียวกับคุณแม่ที่ชื่อ ยุพิน สารเถื่อนแก้ว หนึ่งในครอบครัวตัวอย่าง ที่เล่าว่า ได้พยายามให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ ทุกเย็นจะนั่งเล่นกับลูก มีเกมเล่นร่วมกัน วันหยุดก็จะให้เวลากับลูก ไปเที่ยวไปทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ ๆ…
"ก็ช่วยดึงให้ห่างจากโทรศัพท์ได้บ้าง"
…ต่าง ๆ เหล่านี้ก็พอจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า "เด็กติดโทรศัพท์มือถือ" นั้น หาก "ชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง เข้าใจ และใส่ใจเป็นกลไกแก้ปัญหา" ผ่านกิจกรรมดี ๆ ก็จะ "ช่วยให้เด็กพ้นจากปัญหาสุ่มเสี่ยง" ได้ แถมยัง…สร้างครอบครัวและชุมชนที่อบอุ่นได้ "เข้าใจ และใส่ใจเป็นกลไกแก้ปัญหา"