เด็กขอพื้นที่ ร.ร.สร้างเครือแกนนำ
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ โดยศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน จังหวัดศรีสะเกษ จัดสัมมนาการขับเคลื่อนการทำงานวิชาการด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ
ภายใต้โครงการวิจัยเด็กและเยาวชนสังคมอีสานใต้ จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำเสนอรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน และเพื่อระดมความคิดในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานวิชาการด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ณ ห้องประชุมสุขวิช รังสิตพล โรงแรมศรีพฤธาลัย ราชภัฎสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
นายประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนการทำงานวิชาการด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีเกษ ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับคนในพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 10 โครงการ ได้แก่ 1.การสะท้อนเชิงสังคมวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อความสามารถในการบริหารการรู้คิด อารมณ์ และพฤติกรรม (Executive Functions) ด้านการยั้งคิดและควบคุมแรงปรารถนาของตน เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาในเด็กระดับประถมศึกษา 2.การสร้างการคิดเพื่อชีวิตของเด็กและเยาวชนชาวกูย 3.นิทานท้องถิ่นกับการสร้างการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตเด็กปฐมวัยในชุมชนชาวกูยบ้านเปือยนาสูง 4.การสื่อสารเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น 5.การบูรณาการข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดปัญหาด้านเด็กและเยาวชน 6.การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนเรียนรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ กรณีศึกษา ชุมชนพันทาน้อย 7.แนวทางการสร้างกลไกความร่วมมือของชุมชนในการสร้างภูมิคุ้มกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของเด็กและเยาวชนบ้านละทาย 8.กระบวนการกลุ่มเพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจฐานราก ของเยาวชนในชุมชนบ้านคำเมย 9.บทบาทเยาวชนในการสร้างมาตรการแก้ไขป้องกันการสูบบุหรี่ในชุมชน บ้านกระแชงใต้ และ 10.แนวทางการพัฒนายุวพลเมืองภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม : กรณีศึกษาตำบลกระแชง
“โครงการวิจัยทั้ง 10 เรื่อง สะท้อนภาพที่เป็นจุดร่วมสำคัญ คือ 1.เด็กศรีสะเกษดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมเปราะบาง ทั้งฐานะยากจน ครอบครัวอพยพ อยู่บนพื้นที่เสี่ยง สุรา บุหรี่ ความรุนแรง 2.บทบาทท้องถิ่นในการสร้างกลไกการดูแลเด็กและเยาวชน 3.พลังสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนมีจำนวนมากมีพื้นที่ให้แสดงออก 4.การขับเคลื่อนงานด้านเด็กที่หลากหลายยังไม่มีประเด็นร่วมระดับจังหวัด ดังนั้น จึงมีข้อเสนอการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เห็นร่วมกันคือการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.สร้างกลไกกลางการขับเคลื่อน 2.หาประเด็นร่วม 3.สร้างปฏิบัติการรูปธรรมในพื้นที่ ฉะนั้น จังหวัดศรีสะเกษจำเป็นต้องสร้างกลไกกลางร่วมขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน ภายใต้ทิศทางร่วมที่มีพลัง” นายประจวบ กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ศรีสะเกษมีทุนของผู้บริหารและเด็กที่มีศักยภาพมากพอในการขับเคลื่อนทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาสังคม การที่ได้พบเจอผู้บริหารที่มีความเข้าใจและพัฒนาเด็กในเชิงบวกมีไม่มากนัก ดังนั้น การมองปัญหาในพื้นที่คนที่อยู่ในพื้นที่จึงเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของประเทศและโลก โดยปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาโดยรวมของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ภายนอกที่เกี่ยวกับประเทศเรา จะพบว่าบ้านเรามีปัญหานานแล้ว ถึงแม้ว่าขณะนี้ จะใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาคน แต่ประเด็นปัญหาที่ถูกวิเคราะห์เรื่องประชากรยังไม่ดี เพราะในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เมื่อเด็กเกิดน้อยลงกำลังแรงงานที่จะเติบโตขึ้นไปสัดส่วนจึงมีความแตกต่างกันมาก ดังนั้น หากคุณภาพเด็กที่เกิดมายังเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ ในอนาคตอีก 10 ปี ประเทศก็จะอ่อนแอ
“ปัญหาอยู่ที่ตัวคน แต่มิติของการแก้ปัญหาอยู่ที่หลายหน่วยงานจะเข้ามาช่วยกันแก้ไขเชิงระบบ ตั้งแต่เด็กเกิดจนเข้าสู่มหาวิทยาลัย ดังนั้น การทำงานนโยบายอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งกลไกระดับจังหวัดในการมีศูนย์วิชาการที่จะทำข้อมูลมาช่วยแก้ไขปัญหาคือสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้น หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกลางเชิงสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานและสนับสนุนกลไกที่เกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งการแก้ไขปัญหาในโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น สิ่งที่สำคัญและจะเกิดผลสำเร็จคือโครงสร้างระดับจังหวัดบูรณาการกับปัญหาของตนเอง ดังนั้น อยากให้เกิดโมเดลการพัฒนาเด็กและเยาวชนศรีสะเกษที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กและเยาวชนที่บอกผลได้” นางเพ็ญพรรณ กล่าว
น.ส.กัญญารัตน์ เสาเหลี่ยม ตัวแทนเด็กและเยาวชนศรีสะเกษ กล่าวว่า เด็กอยากได้พื้นที่สร้างแกนนำของตนเองในโรงเรียน และขยายเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นไปในหมู่บ้าน ตำบล เพื่อร่วมกันออกแบบในสิ่งที่เด็กกับเด็กคุยกันรับรู้ถึงความต้องการที่เข้าใจกันทำในสิ่งที่ชอบ โดยมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ ปัญหายาเสพติด บุหรี่ ท้องก่อนวัยอันควรยังมีอยู่มากในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาวะแวดล้อมและตัวของเด็กเอง เพราะเด็กบางคนไม่สนิทกับครอบครัว มีกรณีเพื่อนในห้องเรียนพลาดจนท้อง ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ก็ไปปรึกษาเพื่อนก็แนะนำไปทำแท้ง ถ้าหากครอบครัวอบอุ่นจะทำให้เด็กกล้าที่จะปรึกษาพ่อแม่มากกว่าปรึกษาเพื่อนในวัยเดียวกันซึ่งมีวุฒิภาวะที่ไม่มากพอ ฉะนั้น จะทำให้เส้นทางของเด็กและผู้ปกครองเป็นเส้นเดียวกันได้อย่างไร
ด้าน นางสาวจันที สมนา หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เด็กต้องมีส่วนในการสร้างสังคม แต่ประเทศไทยมักจะกำหนดให้เด็กต้องทำตามนโยบาย ดังนั้น การกำหนดนโยบายด้านเด็กก็จะต้องให้เด็กมีส่วนร่วมด้วย โดยให้เด็กคิด เด็กทำ เด็กแก้ จะยั่งยืน แต่ทุกวันนี้ เราวิ่งตามเด็กและมองเด็กที่เป็นปัญหาคือปัญหา สิ่งที่เด็กแสดงออกจะจะดีหรือไม่ดีหรือเด็กกลุ่มเสี่ยงจงอย่าไปโทษเด็ก แต่ต้องดูว่าสถาบันครอบครัวให้โอกาสเด็กมากน้อยอย่างไร
ทั้งนี้ ได้มีการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน แห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล โดยหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวในแต่ละจังหวัด จัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนตำบล สภาเด็กและเยาวชนเทศบาล
ดังนั้น พม.ขอให้เด็กไปสมัครกันมากๆ เพราะเด็กใช้ภาษาเดียวกันพูดคุยกันรู้เรื่องและเข้าใจเด็กในวัยเดียวกัน จึงอยากได้เด็กรุ่นใหม่มาช่วยกันคิด แก้ไขปัญหาสังคม