เดินหน้าสร้างเครือข่ายสุขภาพดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
บูรณาการระหว่างโรงเรียน บ้าน สถาบันศาสนาโดยเน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชนและเพื่อบูรณาการความรู้เกี่ยวกับการอ่านออก เขียนได้ และความสามารถในการคิด จากการทำกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทำให้เราประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เราได้ตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ที่ชัดเจนร่วมกัน
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย เพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าการดำเนิน "โครงการนำร่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน" ได้นำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้นจากการมีส่วนร่วมอัธยาศัย 4 แห่ง และแหล่งเรียนรู้ 1 แห่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน สุโขทัย นครสวรรค์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร สิงห์บุรี เพชรบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สงขลา พัทลุง และนราธิวาส
สำหรับการดำเนินโครงการตามเป้าหมายเฉพาะ 10 ปี ของ สสส. ตามประเด็นหลักสุขภาวะ ดังได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักและการลดอัตราการสูบบุหรี่ 2. การสร้างความตระหนักและการลดอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. การส่งเสริมการสร้างค่านิยมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและถูกหลักโภชนาการ ลดภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็ก 4. การสร้างความตระหนัก และลดปัญหาสุขภาวะทางเพศ เป็นต้น เป้าหมายการดำเนินโครงการฯ คือ เด็กและเยาวชนในโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยมีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
นายกิตติชัย ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังฆราชาวาส จ.สิงห์บุรี โรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า โรงเรียนวัดสังฆราชาวาสเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่ได้เข้าร่วม "โครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน" ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งทางโรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมาย 5 ด้านของ สสส. โดยการจัดฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับสุขภาวะ จำนวน 13 ฐาน เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การเพาะเห็ด การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไก่ การแยกขยะ การแปรรูปอาหาร ฯลฯ และให้ทุกโรงเรียนในเครือข่ายนำนักเรียนและครูมาเรียนรู้
โดยให้นักเรียนแกนนำลงมือปฏิบัติและเป็นวิทยากร การเรียนการสอนในแต่ละฐานครูผู้สอนจะใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาทักษะ กระบวนการคิดและนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้จัดทำคู่มือเอกสารประกอบการสอนเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 13 ฐาน ให้แก่ครูโรงเรียนเครือข่ายนำกลับไปใช้สอนที่โรงเรียน และเน้นให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติ 10 ประการ ได้แก่ รับประทานอาหารกลางวัน ครบ 5 หมู่ ดื่มนม สำหรับนักเรียนที่มีภาวะโรคอ้วน จะมีการทำ MOU ในการดูแลนักเรียนเรื่องการรับประทานอาหารกับผู้ปกครอง ให้นักเรียนออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก ไม่ดื่มน้ำอัดลม งดของหวาน ออกกำลังกาย เพื่อเป็นการลดภาวะโรคอ้วน เป็นต้น ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังฆราชาวาส จ.สิงห์บุรี กล่าวทิ้งท้าย