เดินหน้ารณรงค์ลดการสูบบุหรี่
นักวิจัยชี้ นโยบายคุมบุหรี่ได้ผล 12 เท่า แนะสร้างมาตรการชุมชนเพิ่ม
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมวิชาการด้านควบคุมยาสูบระดับภาค ว่า การประชุมเพื่อประเมินการลดการบริโภคยาสูบ มุ่งเป้ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตาม "นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม" 3 ลด ได้แก่ ลดผู้เสพรายใหม่ ลดผู้เสพรายเก่า และลดการได้รับควันบุหรี่มือสอง และ 3 เพิ่ม ได้แก่ เพิ่มกลไกการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ เพิ่มผู้ขับเคลื่อนระดับจังหวัด/พื้นที่ และเพิ่มนวัตกรรมควบคุมยาสูบ ซึ่งแกนวิชาการจาก ม.พะเยา, ขอนแก่น, นเรศวร, สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.อุบลราชธานี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
ด้านนพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย อ.คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยการศึกษาการลงทุนขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในช่วงปี 2545-2554 ว่า นโยบายให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพสูงกว่าเงินที่ใช้ โดยภาพรวมได้ผลกลับมามากกว่า 12 เท่าของเงินลงทุน แกนวิชาการสนใจและจะเริ่มงานศึกษาเพิ่มเติม ในรายละเอียดของมาตรการและนวัตกรรม การควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย สร้างความตระหนักในพื้นที่ เพื่อเลือกลงทุนในกิจกรรมควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ
นพ.ปิยะกล่าวต่อว่า จากการพิจารณานโยบายที่ดำเนินการมาพบว่า มาตรการต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนลด ละ เลิก และไม่เป็นนักสูบหน้าใหม่ ต้องทำหลายๆ มาตรการการมีกฎหมายที่เข้มแข็งจะทำให้การปฏิบัติเห็นผลยิ่งขึ้น และต้องใช้นโยบายชุมชน ซึ่งช่วยเหลือกันเองได้ เช่น ควบคุมให้ร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งพบว่ามีชุมชนต้นแบบที่มีนโยบายชุมชนสำเร็จ ส่งเสริมให้ประชาชนทำได้เอง ควบคุมกันเองและลดนักสูบในชุมชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต