เดินหน้าขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคม

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เดินหน้าขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคม thaihealth


แฟ้มภาพ


“ดร.สมคิด” นั่งหัวโต๊ะเปิดประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 1 มอบ “พม.-สสส.-หอการค้า” หัวขบวนเคลื่อนพลังพัฒนาทางสังคม วางเป้าหมายแรก  “5 Quick Win” จ้างงานคนพิการ 1.5 หมื่นอัตรา ในปี 61 – เพิ่มจ้างงาน/พัฒนาที่อยู่อาศัยและการออมเพื่อผู้สูงอายุ – ออกมาตรการความปลอดภัยทางถนนลดเจ็บ-ตายวัยทำงาน


เมื่อวันที่  3  ธันวาคม  2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี   เป็นประธานการประชุม “คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ครั้งที่ 1/2559” ซึ่งเป็นคณะทำงานสานพลังประชารัฐคณะที่  13  ที่ได้จัดตั้งขึ้น มีเป้าหมายคือ  ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์(พม.) เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเวศ วสี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงาน เข้าร่วม พร้อมด้วยเป็นหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม รวมทั้งตัวแทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน กว่า 200 คน


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ประชารัฐ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า มีเป้าหมายในการสร้างอนาคตของประเทศอย่างไร ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ประชารัฐถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งทุกอย่างที่เกิดใหม่ ย่อมมีคำติชม แต่ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวตัดสิน หากหวั่นไหวกับคำวิจารณ์อนาคตก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้หากรัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศ เน้นเพียงเศรษฐกิจ จีดีพี โดยละเลยสังคมก็ไปต่อไม่ได้ เศรษฐกิจเติบโตแต่ภาคท้องถิ่นไม่โตตามก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ เป็นกลยุทธ์เดียวกันที่ทำให้นายโดนัล ทัมป์ ประธานาธิปดีสหรัฐฯ ชนะการเลือกตั้งเพราะนโยบายที่เข้าไปเติมเต็มท้องถิ่นให้ความสำคัญกับแรงงาน ตรงนี้เป็นจุดที่ตนพยายามดึงนโยบายประชารัฐเข้ามา เพราะหากคนไม่ได้รับพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ ทั้งนี้ 1 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องเพิ่มเรื่องการสื่อสารเพื่อให้สังคมเข้าใจยิ่งขึ้น เช่น ให้ทุกหมู่บ้านมีอาสาประชารัฐเข้าไปอธิบาย สื่อสารในชุมชนได้เข้าใจ


เดินหน้าขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคม thaihealth


“ประเด็นที่คณะทำงานสานพลังประชารัฐเพื่อสังคมนำเสนอทั้ง 5 ประเด็น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไปคิดต่อว่าจะเกิดนโยบาย หรือโครงการอะไรภายใต้ประเด็นเหล่านี้ ที่จะลงไปในระดับพื้นที่ ไปประสานความร่วมมือให้หน่วยงาน หรือองค์กรอื่นๆ ในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในส่วนของเอกชนเองผมก็อยากจะท้าให้มาร่วมกันลงขันจัดตั้ง “กองทุนประชารัฐ” เพื่อมาช่วยเสริมทุกภาคส่วนร่วมกันลงงบประมาณ เพื่อให้ประชารัฐเดินต่อไป แม้ว่าการเมืองเปลี่ยนยังไงแต่ประชารัฐจะต้องเดินต่อไป” ดร.สมคิด กล่าว


 ดร.ประเวศ วสี  กล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามหาศาล แต่ที่แล้วมาแยกกันอยู่ไม่ได้เข้ามาเชื่อมโยงกัน เพราะบางคนอาจคิดว่าประเทศไทยจะเจริญได้เมื่อมีความขัดแย้งหรือเห็นตรงข้าม แต่นโยบายประชารัฐเป็นความร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเจริญก้าวหน้าขจัดความขัดแย้งหรือข้อจำกัดทางนโยบายและการเงิน เป็นการทักทอทางสังคมเพื่อสร้างพลังก้าวข้ามข้อจำกัดทุกชนิด ทั้งเชิงพื้นที่ องค์กร และประเด็น เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ เดินหน้าขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคม thaihealth


พล.ต.อ.อดุลย์  แสงสิงแก้ว รมว. พม. กล่าวว่า ประชารัฐเพื่อสังคมจะเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม เนื่องจากเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตัวอย่างเช่น การจ้างงานคนพิการ พม. และกระทรวงการคลัง ได้ผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561  คาดว่าภาครัฐ จะจ้างงานได้ครบ  100%  หรือประมาณ  15,000  อัตรา โดยภาคประชาสังคมจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาองค์กรตัวกลางเพื่อเชื่อต่อให้เกิดการจ้างงานคนพิการในชุมชน และภาคเอกชน ปัจจุบันมีการจ้างงานคนพิการประมาณ  39,695  คน และเนื่องในโอกาสวันพิการสากล ประจำปี  2559  ตรงกับวันที่  3  ธันวาคมนี้ ได้ประกาศเจตนารมณ์จ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นอีก  16,000  คน เป้าหมายเพื่อให้ได้ถึง  90%  หรือ  55,695  คน ของจำนวนคนพิการที่ต้องจ้างงานตามที่กฎหมายกำหนด ภายในปี  2561


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ในฐานะหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม กล่าวว่า คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมได้พิจารณา และเห็นชอบขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่เร่งด่วน โดยตั้งเป้าหมายจากความร่วมมือ 3 ภาคส่วน ร่วมกันผลักดันแต่ละประเด็นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้นี้ หรือ “5 Quick Win” ได้แก่ ได้แก่  1.  จ้างงานคนพิการ   โดยเพิ่มการจ้างงานคนพิการในภาครัฐให้ครบ 15,000 อัตรา ในภาคเอกชนให้ครบ 10,000 อัตราในปี 2561  2.  จ้างงานผู้สูงอายุ   ปัจจุบัน 90% มีศักยภาพที่ทำงานได้ แต่ข้อมูลพบว่าผู้สูงอายุ 34.3% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน หรือ 2,572 บาท/คน/เดือน และ 1 ใน 10 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง คาดว่าอีก 12 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 14.4 ล้านคน อนาคตจะยิ่งใช้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นต้องเร่งสร้างความเข้าใจผู้เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะการจ้างงาน มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เอกชนสามารถหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า ของรายจ่ายประเภทเงินเดือนหรือค่าจ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เดินหน้าขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคม thaihealth


ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า  3.  การออมเพื่อการเกษียณอายุ   เป้าหมายแรกคือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการออม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้กับประชากรในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน และแรงนอกระบบเพื่อสร้างหลักประกันด้านเศรษฐกิจในยามสูงวัย  4.  พัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมเพื่อรองรับผู้สูงอายุและคนพิการ  คือการสร้างที่พักอาศัยที่ปลอดภัย และมีระบบบริการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) โดยเน้นการเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ได้จริง และ  5.  ความปลอดภัยบนถนน   ที่ปัจจุบันพบว่า ทุกชั่วโมงมีคนไทยต้องเสียชีวิต  3  คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง  15.9  ล้านบาท และต้องกลายเป็นผู้พิการ  6  คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง  37.2  ล้านบาท ดังนั้นสถานประกอบการ โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม จะร่วมกันกำหนดนโยบายหรือมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อาทิ การสวมหมวกนิรภัย 100%  ดื่มไม่ขับ มีการจัดเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย ให้การอบรมการขับขี่และควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง โดยในประเด็นนี้คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้หรือ Kick off ในช่วงปีใหม่ 2560 นี้ 


“ที่ผ่านมาภาคประชาสังคม โดย สสส. และภาคีเครือข่าย มีการดำเนินงานทั้งในด้านวิชาการ การพัฒนาและขับเคลื่อน นโยบาย ที่จะสามารถนำมาขยายผลให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยการร่วมมืออย่างจริงจังของภาครัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบประชารัฐ รวมถึงร่วมเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข อาทิ มาตรการด้านภาษี เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุปรีดา กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code