เดินทางแบบอีโค่ เพื่อสิ่งแวดล้อม
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตอน การเดินทางเพื่อโลกสวย
โลกของเรายิ่งพัฒนาไปด้วยการเดินทางที่สะดวกสบาย และรถยนต์สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้นเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งวิกฤตลงมากขึ้นเท่านั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day โดยให้คนทั่วโลกเกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นตามความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี
การเดินทางในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากการขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรมที่ขยายมากขึ้น การเจริญเติบโตของเทคโนโลยี ทำให้การเดินหรือการขี่จักรยานค่อยๆ หายไปในการเดินทางยุคปัจจุบัน เนื่องจากการใช้รถยนต์สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซพิษชนิดต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน มึนงง และหมดสติ) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (ทำให้ทางเดินหายใจระคายเคืองและปอดบวมและเป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดภาวะฝนกรด) สารไฮโดรคาร์บอน (เป็นอันตรายต่อเยื่อตา ถ้าหายใจเข้าไปจะทำให้ระบบการหายใจระคายเคือง) ออกไซด์ของไนโตรเจน (เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและขัดขวางการรับออกซิเจน ไปเลี้ยงร่างกายของเฮโมโกบินในเม็ดเลือดแดง) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เป็นตัวการสำคัญในการเกิดภาวะเรือนกระจก) เป็นต้น และยังเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ
5 วิธีเดินทางแบบอีโค่ เพื่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจข้อมูลการเผาไหม้ของน้ำมันเบนซิน และดีเซล ทุกหนึ่งลิตร พบว่า มีก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมประมาณ 2.3 และ 2.7 กิโลกรัม ตามลำดับ หากมีการขับรถรถยนต์เป็นระยะทางปีละ 25,000 กิโลเมตร เท่ากับ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมมากถึงปีละ 7.2 ตัน โดยก๊าซจะลอยขึ้นไปสะสมรวมกับก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วที่ชั้นบรรยากาศ และหากจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวหมดไป จะต้องปลูกต้นไม้มากถึง 800 ต้น
จากข้อมูลข้างต้นนั้นทำให้เราคิดว่า น่าจะดีกว่าถ้าวันนี้เราออกแบบการเดินทาง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษทางอากาศ เพียงแค่เราช่วยกัน ก็น่าจะลดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ลงได้
1. ใช้พลังงานทดแทน ด้วยการเดิน จักรยาน หรือใช้พลังงานชีวมวล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
2. ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้ 20% หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ตัน ต่อระยะทาง 3 หมื่นกิโลเมตร
3. ตรวจเช็คสภาพและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ อุปกรณ์รถยนต์ให้พร้อมต่อการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยและเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ทางเดียวไปด้วยกัน จะช่วยลดจำนวนรถยนต์ที่ต้องใช้ เป็นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
5. ใช้ขนส่งมวลชน นอกจากลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนแล้ว ยังลดมลลดมลพิษทางอากาศที่ดีทางหนึ่งด้วย
งานด้านรณรงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวิชาการ และสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างสุขภาพทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การส่งเสริมการปั่นจักรยานและการเดินเท้าเพื่อสุขภาพแทนการใช้รถบนท้องถนน โดยร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้วยังเป็นการเพิ่มกิจกรรมทางกายอีกด้วย
หากเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมแน่นอนว่าประเทศไทยของเราจะมีอากาศบริสุทธิ์ที่มีมลพิษน้อยลงในหลายๆ พื้นที่ และคงจะดีกว่ามากถ้าประเทศไทยทั้งประเทศเต็มไปด้วยอากาศบริสุทธิ์มีต้นไม้ ดอกไม้อยู่มากมายทั้งริมทางเดินไปจนถึงถนนสายหลัก หรือเราสามารถตื่นมายามเช้า เปิดหน้าต่างรับอากาศบริสุทธิ์ สูดเอาอากาศดีๆ เข้าไปเต็มปอด คุณภาพชีวิตคนเมืองคงดีต่อใจมากขึ้นเลยทีเดียว