เซ็กส์วัยรุ่น ไม่ใช่แค่ท้องวัยเรียน
ที่มา : มติชน
ภาพโดย สสส.
ประเด็นร้อนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้งในช่วงนี้ แม้ภาพรวมผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดจำนวนลงทุกปี แต่แนวโน้มการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชน ข้อมูลจากโรงพยาบาลบางรัก พบว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กำลังกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะอัตราการติดเชื้อซิฟิลิสที่ปี 2558 พบอยู่ที่ 5.06 ต่อแสนประชากร แต่ในปี 2561 กลับพุ่งสูงเป็นเท่าตัวที่ 11.91 ต่อแสนประชากร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.ลำปาง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนารูปแบบบูรณาการการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์กับเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และยาเสพติดในวัยรุ่น โดยองค์กรสาธารณประโยชน์ จังหวัดลำปาง ในชื่อ "กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง" ต้นแบบของการลดปัญหาการตั้งครรภ์ในพื้นที่ โดยปี 2557 มีอัตราการคลอด 28 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ต่อมาในปี 2560 มีอัตราการคลอด 19.7 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ส่วนอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำของหญิงอายุ 15-19 ปี ก่อนเริ่มโครงการ ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 11.23 และปี 2560 เหลือร้อยละ 9.52
แม้ว่าจำนวนของเยาวชนที่ตั้งครรภ์จะลดลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ก็ยังคงสูงอยู่ โรงพยาบาลลำปางเปิดเผยข้อมูลของการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ใน จ.ลำปาง ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. 2562 พบว่า มีจำนวน 40 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งติดเชื้อหนองใน ซิฟิลิส หงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบี รวมทั้งเอชไอวีด้วย "ธูปทิพย์ บุญยู่ฮ่ง" พยาบาลวิชาชีพ รพ.ลำปาง ให้ภาพการทำงานของคลินิกมิตรวัยรุ่น ว่า มีทั้งแบบตั้งรับคือใช้บริการรับคำปรึกษา ตรวจเอชไอวีด้วยความสมัครใจ รวมทั้งคุมกำเนิดกึ่งถาวรให้กับเยาวชนเพื่อป้องกันการท้องซ้ำ และเชิงรุกโดยทำงานเชื่อมกับเทศบาลนครลำปางและสถานศึกษาในพื้นที่
"กระบวนการของการทำงานของพยาบาลในคลินิกมิตรวัยรุ่นคือ ต้องทำให้เขาไว้ใจด้วยการสร้างสัมพันธ์ ให้เขากล้าพูดและเล่าเรื่องราวให้ฟัง จากนั้นจึงจะใช้การช่วยเหลือ เสนอทางเลือก จนกว่าเด็กจะตกลงรับบริการ ซึ่งหลังจากพบปัญหาแล้ว ทาง รพ. จะมีขั้นตอนการส่งต่อหรือรักษา ซึ่งจำนวนเด็กที่เข้ามารับการขอคำปรึกษาต่อวัน มากที่สุดถึง 20 คน เด็กที่เข้ามาปรึกษาส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการคุมกำเนิด อกหัก เมาแล้วถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ มาขอตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV นอกจากนี้ รพ. ยังร่วมมือกับสถานีอนามัย สถานศึกษา ให้ความรู้เรื่องการ คุมกำเนิดและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยถุงยางอนามัย และกล้าปรึกษาเรื่องเพศสายด่วนที่ 1300 และ 1663 สำหรับเด็กที่ท้องและคลอดลูกแล้วจะทำการฝังยาคุมเป็นการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรป้องกัน การท้องซ้ำแต่ยังสามารถนำออกได้หากต้องการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ซึ่งก่อนฝังยาคุมจะต้องให้ข้อมูล เกี่ยวกับข้อดี และข้อเสียให้เด็กและผู้ปกครองทราบก่อนตัดสินใจ ซึ่งเด็กให้ความ ร่วมมือดี 100% มีเคสที่เป็นเด็ก นักเรียนหญิงโรงเรียนดังของลำปาง มีเพศสัมพันธ์โดยฝ่ายชายไม่ป้องกัน ทำให้เขาติดเชื้อเอชไอวี โชคดีที่น้องคนนี้มีคุณแม่ที่เข้าใจ ทำให้เขาดำเนินชีวิตและกลับไปเรียนหนังสือโดยยังรับยาต้านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะไม่โชคดีแบบนี้" ธูปทิพย์ กล่าว
จากกรณีตัวอย่างดังกล่าว บอกได้ว่าการสื่อสารเชิงบวกในบ้านป้องกันปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะหากวัยรุ่นในบ้าน มีคนเข้าใจ รับฟัง เป็นห่วง สามารถพึ่งพิงได้เมื่อกำลังเผชิญกับปัญหา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเพศ ซึ่ง จ.ลำปาง จัดกระบวนการสื่อสารเชิงบวกระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองกับบุตรหลาน มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์กับเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ ยาเสพติดในวัยรุ่น
กวิตา นาคคล้าย ชาวชุมชนนาก่วมเหนือ จ.ลำปาง แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 47 ปี แชร์ประสบการณ์การเข้าอบรมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว ว่า ตนเคยประสบปัญหามีลูกสาวตั้งครรภ์ในวัยเรียน ขณะที่เขาอายุ 18 ปีและกำลังเรียน ปวช. ปี 1 แม้จะตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องถามความประสงค์ของลูกว่าต้องการเรียนต่อหรือไม่ จากนั้นจึงไปปรึกษากับโรงเรียน
"โชคดีที่วิทยาลัยเปิดโอกาสให้เด็กที่พลาด อนุญาตให้เด็กเรียนต่อได้ เราก็พาเขาไปฝากครรภ์ หลังจากคลอดก็ฝังยาคุมกำเนิด ปัจจุบันลูกสาวเรียนจบระดับชั้น ปวส. แล้ว มีลูกชายอายุ 3 ขวบ ซึ่งเขาก็ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและเลี้ยงลูกไปด้วย ข้อผิดพลาดตรงนั้น ทำให้เขาเข้าใจบทบาทของแม่มากขึ้น ขณะที่แม่เองก็บอกให้เขาเข้มแข็ง อดทน"
คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเปิดใจ และบอกอีกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม ทำให้เปิดมุมมองของผู้ใหญ่และเข้าใจสถานการณ์วัยรุ่นมากขึ้น หากมีโอกาสจะพาลูกสาวมาร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อให้เขาได้นำไปสอนลูกต่อไป สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นคำแนะนำคือ เราต้องสื่อสารเรื่องเพศกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าสามารถเป็นที่พึ่งให้เขาได้ยามที่เขาลำบากหรือเจอปัญหา การสื่อสารเรื่องเพศกับลูก หรือการปลูกฝังเรื่องการป้องกันด้านเพศสัมพันธ์กับเด็กจะมาสื่อสารตอนเป็นวัยรุ่นแล้วอาจะไม่ได้ผล ต้องค่อย ๆ ปลูกฝังตั้งแต่เขาเป็นเด็กเพื่อที่จะเข้าใจมากขึ้น
ปัจจุบัน มีการต่อยอดการดำเนินงานให้มีการบูรณาการประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเข้ากับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้สารเสพติด โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ชาย เน้นให้ความรู้เรื่องการป้องกันในโรงเรียน ซึ่ง "ไตรภพ เครือคำน้อย" ตัวแทนเยาวชนเทศบาลนครลำปาง บอกว่า กลุ่มเยาวชนเป็นตัวกลางขับเคลื่อนเรื่องเพศได้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการป้องกัน รณรงค์ให้วัยรุ่นพกถุงยางอนามัย และให้เพศชายตระหนักถึงการป้องกัน เพราะปัญหาที่ตามมาไม่ใช่แค่การตั้งครรภ์ แต่คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเช่นกัน