เชื่อมโยงไทย-พม่า จัดการศึกษาหลักสูตร กศน.
ลูกแรงงานข้ามชาติเข้าเรียนทุกสังกัดแค่ 30% เหตุอ่อนภาษาไทย-ใช้วุฒิไม่ได้ “กศน.-มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน-มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท-สสส.” เร่งทดลองจัดการศึกษาหลักสูตร กศน. และเชื่อมโยงไทย-พม่า นำร่องแม่สอด-เมียวดี 2 ศูนย์การเรียน พร้อมถอดบทเรียนขยายความร่วมมือครอบคลุมยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.แม่สอด จ.ตาก ในการลงพื้นที่ “โครงการพัฒนาแนวทางและรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและแรงงานข้ามชาติ (ศสร.)” น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท ผู้จัดการโครงการ ศสร. กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกแรงงานข้ามชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ติดตามพ่อแม่มาทำงาน และเกิดในไทยประมาณ 300,000 คน ปีการศึกษา 2556 มีกว่า 90,000 คน หรือ 30% ได้รับการศึกษา โดยเข้าเรียนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 70,000 คน กศน. 3,000 คน กรุงเทพมหานคร 1,000 คน ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ 20,000 คน แม้จะเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบต่างๆ แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหามาก ทั้งด้านจำนวนการเข้าถึง เนื้อหา หลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของเด็ก การใช้ภาษาไทยเป็นหลักจัดการเรียนการสอน ทำให้เด็กที่ไม่พร้อมด้านภาษาไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษา รวมถึงการเรียนส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเชื่อมโยง ถ่ายโอนกับการศึกษาในประเทศต้นทางได้
“มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท โดยโครงการ ศสร. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ กศน. พัฒนาแนวทางจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไทย 2 โครงการ คือ 1.นำร่องจัดการศึกษาตามแนวทางการจัดการศึกษา กศน. สำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไทย และ 2.ทดลองเชื่อมโยงการศึกษากับประเทศต้นทาง เพื่อให้บุตรแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติได้รับวุฒิจาก กศน.ไทย และ กศน.พม่า” น.ส.ลัดดาวัลย์ กล่าว
นางเกศณี ฝึกฝน ผู้อำนวยการ กศน.อ.แม่สอด กล่าวว่า การนำร่องจัดการศึกษาตามแนวทางการจัดการศึกษาฯ สำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไทย ได้ทำ MOU ร่วมกับศูนย์การเรียนปารมี และศูนย์การเรียนขององค์กรเครือข่ายอีก 3 ศูนย์การเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2556 ปัจจุบันขยายผลจัดการศึกษาไปยังศูนย์การเรียนเพิ่มอีก 4 ศูนย์ รวมเป็น 8 ศูนย์ มีนักเรียน 201 คน จัดการเรียนการสอนแบบชั้นเรียนเหมือนในระบบทั่วไป แต่ยืดหยุ่นกว่า โดยเด็กจะเรียนสัปดาห์ละ 3-4 วัน หรือทุกวันขึ้นอยู่กับความพร้อมของศูนย์การเรียน ครูส่วนใหญ่เป็นครูของศูนย์การเรียนที่พูดภาษาเดียวกับเด็ก แต่อบรมให้สามารถจัดการศึกษาตามหลักสูตร และใช้เนื้อหา วิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักได้ โดย กศน.สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ สื่อ อุปกรณ์การเรียนสอน และแต่งตั้งครูศูนย์การเรียนชุมชน(ครู ศรช.) 2 คน เพื่อติดตาม ช่วยเหลือการจัดการเรียนการสอนของครูในศูนย์การเรียน อีกทั้งเด็กเหล่านี้ ได้รับจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวตามนโยบายของ กศน.เหมือนเด็กไทย
นางยุวดี ศิลปกิจ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน กล่าวว่า การทดลองเชื่อมโยงการศึกษากับประเทศต้นทาง ได้ประสานหน่วยงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบของรัฐกะเหรี่ยง หน่วยงานด้านการศึกษานอกระบบของ จ.เมียวดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางให้ลูกแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ได้รับการศึกษาในไทย สามารถกลับไปเรียนต่อที่พม่าได้ นำร่องในศูนย์การเรียนที่ อ.แม่สอด ภาคเรียนที่ 1/2557 จำนวน 2 ศูนย์การเรียน มีเด็กลงทะเบียนเรียน 80 คน โดยเอารายชื่อของเด็กในศูนย์การเรียนไปลงทะเบียนไว้ที่โรงเรียนในรัฐกะเหรี่ยง 2 โรงเรียน แต่ตัวเด็กเรียนที่ศูนย์การเรียนในแม่สอด ทำให้พม่าสนับสนุนการจัดการศึกษา และออกหลักฐานทางการศึกษาให้เด็กได้ รวมถึงวิจัยความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงการศึกษากับพม่า โดยที่ศูนย์การเรียนไทย เพียงแต่ปรับเนื้อหาการสอน ไม่ต้องเป็นหลักสูตรของพม่าโดยตรง และไม่ต้องลงทะเบียนไว้ที่โรงเรียนแห่งใดแห่งหนึ่งในพม่า เพื่อเชื่อมโยงการศึกษาได้กว้างขวางขึ้น และหวังให้มีองค์ความรู้เสนอต่อรัฐบาลไทย-พม่า ได้หารือระดับประเทศต่อไป
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ รองเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า สำนักงาน กศน. ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนความเป็นอาเซียน และความสำคัญของการศึกษา ได้พัฒนาแนวทางจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนดนโยบายให้ครู ศรช. เป็นผู้สอน สถานศึกษาสามารถแต่งตั้งครูประจำกลุ่มสอนเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย และทำหนังสือแจ้งสำนักงาน กศน. จังหวัด ให้สถานศึกษาในสังกัดจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนกลุ่มดังกล่าว รวมถึงการจัดการศึกษาร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าว ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับหลักฐานการจบการศึกษาตามระเบียบของ กศน.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 มีสถานศึกษานำร่องจัดการศึกษาใน 5 จังหวัด คือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อ.เมือง จ.ระนอง และ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และในภาคเรียนที่ 2/2557 นี้ สำนักงาน กศน. พร้อมสนับสนุนการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น เพราะจะทำให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาเพื่อเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมไทย
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่าง สสส.กับภาคีเครือข่ายเกิดขึ้นตามนโยบายการคุ้มครองเด็กตามสิทธิขึ้นพื้นฐาน ตามหลักการสากลว่าด้วยสิทธิทางการศึกษา อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 ก.ค. 2548 เรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ทำให้เด็กเข้าถึงการพัฒนาตามช่วงวัย ศักยภาพและบริบทของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองจากสภาวะเสี่ยงต่างๆ ทั้งการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก อีกทั้งการอ่านเขียนภาษาไทยได้ หรือจบการศึกษาขั้นพื้นฐานจะช่วยให้เด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ดีขึ้น สามารถเรียนรู้กฎ ระเบียบและปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้ดีขึ้นด้วย
“สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายเชื่อมประสานกลไกการทำงานด้านการศึกษาร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ใน 3 รูปแบบ คือ 1.ทดลองแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย ภายใต้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 2.จัดการเรียนการสอนแก่ลูกหลานแรงงานข้ามชาติแบบเชื่อมโยงหลักสูตรกับประเทศต้นทางในพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง จ.ระนองและตาก และ 3.นำร่องจัดการศึกษาแก่แรงงานข้ามชาติ โดยมีหลักสูตรภาษาไทย-พม่า เพื่อการสื่อสารและการทำงานในสถานประกอบการ โดยขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงแรงงาน โดยการทำงานยังอยู่ในขั้นของการทดลองในพื้นที่นำร่อง” ดร.ประกาศิต กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข