เชียงใหม่ ‘เขียว’ ปลูกปรับเปลี่ยน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเดลินิวส์
สร้างพื้นที่สีเขียว พัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่ความความยั่งยืน
"ทำงานเกี่ยวกับต้นไม้มานานแล้ว เราเกิดมาก็เห็นต้นไม้ แต่มีคำถามว่า ต้นไม้ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เขาโตมาอย่างสมบูรณ์มั้ย สุขภาพเขาดีหรือเปล่า ก็เลยมีคนพูดว่า ต้นไม้มันป่วยได้นะ คำแรกที่ผมได้ยินว่าต้นไม้ป่วยได้นั้น มันเป็นคำที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ต้นไม้ป่วยก็เหมือนกับเราป่วย เราไปหาหมอได้ แต่ต้นไม้ป่วย ป่วยแบบไหน จะมียารักษาได้มั้ย ซึ่งต้นไม้ที่ป่วยนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจของคน ต้นไม้อยู่ได้เพราะรากช่วยหายใจ ได้รับอากาศ และธาตุอาหาร" อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มต้นกล่าวนำในงานเสวนา Tree talk จุดประกาย "ปลูก ปรับ เปลี่ยน เพื่อเชียงใหม่เขียว" โดยกลุ่มหมอต้นไม้ จาก เขียว สวย หอม
งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Spark U เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ภาคีพันธมิตร และภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เชียงใหม่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในความยั่งยืนของเชียงใหม่ก็คือพื้นที่สีเขียวที่กำลังลดน้อยถอยลงเพราะเมืองที่ขยายตัวออกอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งครั้งหนึ่งทั้งไฟฟ้าและถนนสายใหม่ที่ถูกตัดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัว มักถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทำลาย ทว่าวันนี้บทบาทของทั้งสองหน่วยงานหลักกลับเปลี่ยนไป
วิฑูรย์ ประเสริฐสุวรรณ การไฟฟ้าเชียงใหม่ 2 เล่าว่า เมื่อก่อนไฟฟ้าจะเป็นสายเปลือย ไม่มีฉนวนหุ้มสายไว้ พอมีลมปะทะกับกิ่งไม้ไฟก็ดับ ไฟฟ้าก็เร่งให้ดำเนินการตัดต้นไม้เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟดับ ทาง อ.บรรจงกับ เขียว สวย หอมก็เข้าไปคุยว่า ทำไมตัดต้นไม้แบบนี้มันจะทำให้ต้นไม้ตายได้ ต้องตัดแบบนี้ต้นไม้ถึงจะอยู่ได้ ผมก็ส่งคนไปเรียนกับ อ.บรรจงเลยครับ ว่าต้องตัดต้นไม้แบบไหน ต้นไม้อยู่ได้ ตัดอย่างไรให้สายไฟอยู่ได้ ไฟไม่ดับประชาชนอยู่ได้ เราจะดูแลกันอย่างไรได้ สายเปลือยตัดห่างต้นไม้ขนาดไหน สายหุ้มห่างขนาดไหน พอไปเรียนแล้วก็กลับมาทำที่แรกคือถนนสุเทพ มีการตัดต้นไม้ตามแนวรุกขกรเลย ก็เริ่มดีขึ้น แต่ก็อยู่ได้ระยะหนึ่ง เพราะไฟฟ้าต้องดูแลต้นไม้ทั้งจังหวัด กว่าจะกลับมาดูแลอีกรอบก็ไม่ทันล่ะ มันไม่ต่อเนื่อง
ขณะที่กรมทางหลวงเองก็มองภาพถนนสายใหม่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน ธีรพงษ์ ขจรเดชากุล แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เล่าว่า ในอดีตที่ผ่านมากรมทางหลวงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีการรื้อย้ายต้นไม้หรือมีการตัดต้นไม้ในบางที่ ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาเส้นทาง ขยายความกว้างของถนนก็ดี ก่อสร้างทางแนวใหม่ก็ดีเราก็พยายามหลีกเลี่ยงในลักษณะแบบนี้ ในบางครั้งก็มีความจำเป็นต้องตัดรื้อย้ายในบางส่วน แต่บางส่วนที่เป็นไม้ที่เกี่ยวกับไม้หลัก หรือต้นไม้ที่มีประวัติ มีสิ่งที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชุมชน คน เราก็พยายามหลีกเลี่ยง อย่างเส้นถนนเชียงใหม่ลำพูนก็ไม่มีการพัฒนาขยายความกว้างเพิ่มมากขึ้น ก็ยังใช้ถนนเดิม แล้วเราก็มาพัฒนาสายเชียงใหม่-ลำพูน มีการเวนคืนที่ดินในอดีต และต้นไม้ที่อยู่สองข้างทางก็เป็นต้นไม้ที่ปลูกมาตั้งแต่เราตัดถนนมาใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยด้วย เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ที่ผูกพันกับต้นไม้
"เส้นสันกำแพงสายเก่า เราก็เลือกที่จะไม่ตัดต้นไม้ออกให้ชุมชนอยู่ได้ คงถนนสายเก่าไว้ แต่ไปพัฒนาสายเชียงใหม่-แม่ออน เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบกับต้นไม้ 2 ข้างทางให้น้อยที่สุด โครงการล่าสุดที่จบไปคือ สายวงแหวนรอบที่ 3 ตรงแยกกองทรายที่กำลังทำอยู่ จะเห็นได้ว่าต้นยางต้นไม้ใหญ่ก็ยังสามารถแทรกอยู่ได้ในพื้นผิว เราก็พยายามหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด หากเลี่ยงไม่ได้ก็จะไปสู่ขั้นตอนการล้อมเพื่อนำไปปลูกในที่ที่เหมาะสมอย่างพื้นที่ของทางต่างระดับสารภี"
ในพื้นที่ของโบราณสถานเองการจะตัดหรือจะให้ต้นไม้ยังคงอยู่ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สายกลาง จินดาสุ กรมศิลปากรเชียงใหม่ ที่ 8 ระบุว่า ต้นไม้กับโบราณสถานมีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาก คนจะนึกว่าโบราณสถานก็คือโบราณสถาน ต้นไม้ก็คือต้นไม้ แต่ความจริงคือต้นไม้มันก็คือประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า มีต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ในวังอยุธยาอายุหลายร้อยปี ไม่แน่ต้นไม้ต้นนี้อาจจะเคยเข้าเฝ้าพระนเรศวรมาก่อนก็ได้ หรือเคยเห็นตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็ได้
"ต้นไม้คือประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของมนุษย์ เราเคารพโบราณสถานอันเพราะเขามาก่อนเรา เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติต่อสิ่งนี้นั้นคือการบูรณะ เราจะบูรณะตามหลักการที่ว่า เราไม่ไปเปลี่ยนแปลงเขาในแบบที่เราเห็นว่าแบบนี้สวย แต่เราจะคงความเป็นเขาไว้เพราะมันคือหลักฐานที่มาของเขา เหมือนกันกับต้นไม้ ต้นไม้คือผู้ที่มาก่อนเรา คือประวัติศาสตร์ที่มาก่อนเรา คือคนที่เห็นอะไรมาก่อนเราเยอะ อย่างในเชียงใหม่ อย่างเช่นต้นยางนาที่วัดเจดีย์หลวงอาจจะเคยเห็นพระเจ้าติโลกราชมาแล้วก็เป็นได้ อาจจะเคยเห็นพม่ามาตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2101 ฉะนั้นความเป็นต้นไม้กับประวัติศาสตร์มันคือสิ่งที่แนบแน่นเป็นอันเดียวกัน"
อ.บรรจง เจ้าของฉายา "หมอต้นไม้" ยอมรับว่า เมื่อเริ่มศึกษาต้นไม้ครั้งแรกก็คิดว่าต้นไม้จะต้องงาม ต้นไม้จะต้องรอด จนลืมนึกไปว่าที่สำคัญกว่าคือเรื่องคน
"สิ่งแรกที่เราต้องช่วยกันดูแลก่อนก็คือ ความปลอดภัยของคน ความสุขของคนที่จะอยู่ เสร็จแล้วที่ตามมาคือสุขภาพของต้นไม้ ถ้าเรามีหลักการและช่วยกันดูแลได้ ต้นไม้ก็มีความสุข เราก็มีความสุข ความงามมันก็เริ่มตามมา บ้านเมืองก็ดูเขียว ลองมองไปตอนหน้านี้ ความงามของดอกไม้สีม่วง สีชมพู ดอกอินทนิล ตะแบก เสลา เราไม่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินบินไปเมืองอื่นล่ะ บ้านเมืองของเราก็มี ไปเปิดดูปฏิทินของเรานะ 12 เดือนบ้านเรามีฤดูไม้ดอกให้ดูได้เกือบทุกจังหวัดหลายที่หลายภาค"
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรอย่าง สายกลาง ทิ้งท้ายว่า ต้นไม้ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นเชิงธรรมชาติอย่างเดียวมันคือสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่หล่อหลอมชีวิตคนเรา
เราเติบโตเป็นอย่างไรก็คือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา ผมเชื่อว่าอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ถ้ามีการตัดต้นไม้ออกไปสักครึ่ง เด็ก มช. คงไม่ได้เติบโตมาเป็นเด็ก มช. อย่างปัจจุบัน เพราะสิ่งแวดล้อมมันหล่อหลอมเขา เราต้องมองว่าต้นไม้คือสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ วันข้างหน้าเขาจะช่วยหล่อหลอมลูกหลานของเราที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเขา
"งานทางโบราณคดี หลุมเพียงเล็ก ๆ ต้องใช้งบเป็นแสน มีหลายหลุมต้องใช้งบเป็นล้าน คนถ้าไม่เห็นความสำคัญก็จะคิดว่า ขุดทำไม ขุดทิ้งเสียของเปล่า ๆ เป็นแสนเป็นล้าน แต่ว่าถ้าเราเห็นความสำคัญตรงนี้ เราขุดไปแล้วเราได้อะไร เราได้ประวัติศาสตร์ เรารู้ที่มาที่ไปของพื้นที่ รู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เราจะไม่รู้สึกเสียดายกับเงินที่เสียไปตรงนั้นเพราะเราให้ความสำคัญกับงานตรงนั้น เหมือนที่อาจารย์บอกว่าเราได้สวนเพื่อเปลี่ยนมูลค่าบางอย่างของสังคม บางทีถ้าใช้เป็นที่จอดรถก็จะได้ค่าจอดรถ แต่เพราะมูลค่าทางสังคมเราได้มากกว่านั้น"
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองจึงไม่ใช่แค่เพียงการปลูกเพิ่ม แต่ยังต้องรักษาสิ่งที่มีให้คงอยู่ไปพร้อมกันด้วย และเมื่อทุกคนช่วยกัน หนทางสู่เมืองสีเขียวก็ไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป