เชียงใหม่สุดฟิต ลุยเตรียมงานสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ 54
เชียงใหม่จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงานสงกรานต์ ปี 2554 ชูประเด็นการผลักดันให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะวัฒนธรรม และการควบคุมการดื่มการขายเครืื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณีสงกรานต์ ตลอดจนความปลอดภัย และการลดความสูญเสียหรืออุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าว
ในวันที่ 5 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 9.00-12.00 น. ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนตัวแทนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ตำรวจ สรรพสามิต สำนักวัฒนธรรม สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานองค์กรงดเหล้า (สคล.) สื่อมวลชน เครื่อข่ายดนตรีสร้างสุข เครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ 7 สถาบัน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ในนามของ เครือข่ายความร่วมมือแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ บุหรี่ และอุบัติเหตุ จังหวัดเชียงใหม่
หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้งานสงกรานต์ปีนี้ ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลดการดื่ม และการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่งดงามของเมืองเชียงใหม่ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
ที่ประชุมได้พูดคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับการจัดเตรียมงานสงกรานต์เชียงใหม่ ประจำปี 2554 ที่จะถึงในเดือนเมษายนนี้ โดยเน้นในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย และลดอุบัติเหตุหรือความสูญเสียอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้มงวดเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างผิดกฏหมาย เช่น ขายในที่ห้ามขาย ขายให้แก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และขายนอกเวลาที่อนุญาตให้ขาย ตลอดจนการดื่มสุราในที่สาธารณะ การทะเลาะวิวาทในช่วงงานเทศกาล รวมทั้ง อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และการขาดวินัยจราจร
ต่อมาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน หม่อมหลวงปนัดดา เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนา “บทบาทสื่อมวลชน ต่อการแก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่และอุบัติเหตุ เพื่อลดความสูญเสียเทศกาลปีใหม่เมือง จ.เชียงใหม่” โดยมี นายแพทย์ธีระวุฒิ โกมุทบุตร ประธานเครือข่ายความร่วมมือลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ ระดับจังหวัด เป็นผู้กล่าวรายงานสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า
“จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉพาะในอำเภอเมืองประมาณ 100 คนต่อปี ส่วนต่างอำเภอรวมกันอีกประมาณ 100 คนต่อปี และก่อให้เกิดพิการทุพพลภาพ ทำให้ครอบครัวต้องรับภาระในการดูแลรักษาจำนวนมาก ร้อยละ 80 เป็นผู้ชายวัยรุ่น อายุ 17-25 ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเมาแล้วขับรถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง”
นายวิษณุ ศรีทะวงค์ ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความพยายามในการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชน โดยร่วมกันเฝ้าระวัง รณรงค์ทางสังคม และผลักดันนโยบายสาธารณะของคนเชียงใหม่ ปีที่ผ่านมาว่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตเป็นศูนย์ ส่วนอัตราการบาดเจ็บและเหตุทะเลาะวิวาทจาก 26 ราย เหลือเพียง 11 ราย ในบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่
“ในปีนี้มีพื้นที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์จัดโซนนิ่ง เล่นน้ำปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ จำนวนมากถึง 40 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ พบนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 85 ชื่นชอบแห่มาร่วมงาน เพราะไม่ต้องกังวลถึงเหตุความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น (ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวและประชาชน เทศกาลสงกรานต์ปี 2553 โดยกองการศึกษา เทศบาลนครเชียงใหม่)” นายวิษณุ กล่าว
ส่วน หม่อมหลวงปนัดดา กล่าวว่า ความรื่นเริงไม่ใช่เป็นสิ่งยั่งยืน เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม และรอบคูกำแพงเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นดินศักดิ์สิทธ์ เป็นสิ่งที่คนเชียงใหม่ต้องช่วยกันขบคิด อนุรักษ์สถานที่สำคัญประเทศชาติให้ดำรงอยู่ ด้านกระทรวงวัฒนธรรมและองค์การยูเนสโก (องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ:the united nations educational, scientific and cultural organization= unesco) กำลังจะนำเสนอให้เชียงใหม่เป็น “creative city” ซึ่งจะเป็นนครแห่งแรกของอาเซียน
“เนื่องจากคนเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านน้ำใจไมตรี ความอ่อนน้อมถ่อมตน และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม จนเป็นที่จดจำ น่าจารึกบันทึกไว้ เป็นที่น่าปลาบปลื้มยินดีที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อน มีความห่วงใยกังวลกับปัญหาสังคม เยาวชนคือความหวังของเราและประเทศชาติ คนรุ่นเก่าก็มีกำลังถดถอยลดน้อยไปทุกขณะ” ผู้ว่าฯ เชียงใหม่กล่าว
ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในส่วนเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น เรื่องการสวมหมวกนิรภัย 100% นั้น มีคนบอกว่าไม่มีอะไรจะทำกันแล้วหรือ? หลายคนตลกขบขัน บอกใส่เฉพาะช่วงถนนที่กำหนด พ้นจากนั้นแล้วจะถอดออก แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย ยกตัวอย่าง ท่านที่ไม่เคยชินกับเข็มขัดนิรภัย แต่มาวันนี้บอกไม่คาดเข็มขัดฯ รู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง จึงอยากให้การสวมหมวกเป็นอย่างนั้นด้วย ยิ่งเรื่องสุรา ยิ่งยากขึ้นไปกว่านั้น ซึ่งทางจังหวัดมีความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
“การจัดการปัญหาสุราของเชียงใหม่ ทั้งงานลอยกระทง งานกาชาด งานฤดูหนาว ที่ผ่านมานั้น มีการปฏิบัติกันอย่างเข้มงวด ได้ผลดี และได้รับการชมเชยเป็นอย่างมาก” หม่อมหลวงปนัดดา กล่าว
ส่วนทาง พ่ออินสม ปัญญาโสภา นายกสมาคมสื่อมวลชนภาคเหนือ (รักษาการ) และบรรณาธิการ น.ส.พ ไทยนิวส์ (ประธานที่ปรึกษา) ได้ให้ความเห็นช่วงท้ายเวทีเสวนาว่า การทำงานเพื่อลดการดื่ม การตาย ต้องอาศัยการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง การรณรงค์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาดีขึ้น โดยเฉพาะปี 53 เบาบางลง อีกทั้งยังได้แนวร่วมจากเยาวชนนักศึกษากว่า 8 สถาบัน เข้ามาร่วมกับเราด้วย
ผลสรุปจากเวทีเสวนา “บทบาทสื่อมวลชน ต่อการแก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่และอุบัติเหตุ เพื่อลดความสูญเสียเทศกาลปีใหม่เมือง จ.เชียงใหม่” ซึ่งประกอบด้วยสื่อมวลชนหลายแขนง อาทิ ผู้ผลิตรายการสาระดีลานนาทางช่อง nbt, รายการวิทยุ สทร.11 (กองทัพเรือ), ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ธุรกิจภาคเหนือ และสื่อสิ่งพิมพ์ในท้องถิ่นมากมาย ได้ร่วมกันเสนอแนวทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาเรื่องเหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ ในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึง ดังนี้
ให้สื่อมวลชนที่มาร่วมเสวนา ไม่ให้รับสปอนเซอร์โฆษณาจากธุรกิจ สุรา, บุหรี่, บาร์เบียร์ต่างๆ พร้อมทั้ง ให้ความร่วมมือแก่เครือข่ายฯ ใช้ช่องทางนำเสนอกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ รณรงค์ลดค่านิยมการดื่มเหล้า เบียร์และอื่นๆ ผ่านรายการ (หนังสือพิมพ์ธุรกิจภาคเหนือ ให้เนื้อที่ ๑ หน้า, รายการวิทยุร่วมพูดรณรงค์ และนำสปอตวิทยุเผยแพร่ทุกช่วงเวลา, รายการสาระดีลานนาให้เปิดสปอตรณรงค์ 30 วินาทีฟรี) รวมถึง การช่วยจัดหาทุน หากมีกิจกรรมที่เครือข่ายฯ ทำร่วมกับเยาวชน เพื่อสนับสนุนการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมแก่เด็กเยาวชน
ที่มา: เครือข่ายความร่วมมือแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ บุหรี่ และอุบัติเหตุ จังหวัดเชียงใหม่