เชียงใหม่ผุดไอเดีย-เรียนรู้วิถีล้านนา

       กว่า 100 องค์กร จัดเทศกาลงานออกแบบ Chiang Mai Design Week 2014 ครั้งแรกใน จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6-14 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอศักยภาพของนักออกแบบ และผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนรากฐานทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น


/data/content/26887/cms/e_bdmoptuvz478.jpg


     ในสภาวะบ้านเมืองที่เติบโตรุดหน้าไปด้วยอย่างรวดเร็ว ด้วยโลกของเทคโนโลยี ขณะที่พื้นที่การแสดงออก สร้างจินตนาการ และแสดงตัวตนกลับลดลง เบี่ยงเบนความสนใจไปในรูปของแช้ต แชร์ ผ่านโลกโซเชียล ปิดบังความเป็นตัวเองเอาไว้ภายใต้หน้าจอโทรศัพท์มือถือ บางส่วนก็ไปติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต รวมทั้งปัญหายาเสพติด ทะเลาะวิวาท นำมาซึ่งการสร้างปัญหาสังคมมากมาย รวมทั้งพัฒนาการ ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนให้หมดไป โดยที่ผู้ปกครองก็ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่ลูกหลานเท่าที่ควรจากการเงินและงานที่รัดตัว


    แต่เมื่อไม่นานนี้ กลับมากิจกรรมดีที่สามารถจุดประกายความหวังให้แก่เด็กและเยาวชนได้ หากได้รับสนับสนุนและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง


    ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) หรือ TCDC ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มธุรกิจออกแบบทั้งใน จ.เชียงใหม่และกรุงเทพฯ กว่า 100 องค์กร จัดเทศกาลงานออกแบบ Chiang Mai Design Week 2014 ภายใต้แนวคิด “Born Creative” ครั้งแรกใน จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6-14 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอศักยภาพของนักออกแบบ และผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนรากฐานทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมกว่า 100 กิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์และเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จ.เชียงใหม่


    นายพิชัย สนแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ประเทศไทยไม่แพ้ใครในเวทีโลกทางด้านการออกแบบ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการสร้างสรรค์งานโฆษณาในแต่ละท้องถิ่น เพราะประเทศไทยมีภูมิปัญญาที่เข้มแข็ง สามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้


    ดังนั้น การจัดกิจกรรมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้ท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้ประเทศไทยแข็งแกร่งทางด้านการสร้างนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และยืนอยู่ในเวทีสากลได้อย่างแข็งแกร่ง โดยหวังว่าเทศกาลงานออกแบบ Chiang Mai Design Week จะเป็นหลักในการช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยต่อไป


    นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการ TCDC เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นเทศกาลแห่งปีที่จะกระตุ้นความเคลื่อนไหว เสริมสร้างความคิด จินตนาการ งานออกแบบและการส่งเสริมภาพลักษณ์ของท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยเทศกาลดังกล่าวได้เครือข่าย ภาคีจากทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมสนับสนุนกิจกรรม เช่น กิจกรรม Bike Trip โดยเชิญชวนประชาชนผู้สนใจปั่นจักรยานท่องเที่ยวแหล่งกำเนิดงานสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบของเมือง/data/content/26887/cms/e_befoqtuxy349.jpgเชียงใหม่ เรียนรู้วิถีชุมชน ชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ดินแดนล้านนา เพื่อค้นหามุมมองแนวคิดใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจ เสริมสร้างความคิดจินตนาการ ผ่านการเยี่ยมชมจุดแสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์


    “เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะ เนื่องจากมีต้นทุนเดิมเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทักษะฝีมือพื้นถิ่นที่แข็งแกร่ง มีองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพียบพร้อม เหมาะกับการพัฒนาให้เป็น Creative City ทั้งนี้ การเติบโตของเชียงใหม่ในเวลานี้เป็นมากกว่าจุดหมายของนักเดินทาง แต่เป็นพื้นที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้งอกเงย


    ดังนั้น ผมหวังว่าจะใช้งานนี้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ ได้มาชื่นชมศักยภาพการออกแบบ ประเพณี วัฒนธรรมล้านนา การผสมผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่นเข้ากับงานออกแบบของผู้ประกอบ ทั้งที่เป็นกลุ่มดั้งเดิมและหน้าใหม่ เพื่อจะได้ใช้ผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ต่อยอดให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย”


    นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า ในส่วนของนิทรรศการ Love Your Local Love Your City ภายในงานเป็นผลสำเร็จจากโครงการส่งเสริมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชน โดยให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาปีที่ 2-3 คณะหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาควิชาการออกแบบการพัฒนาเมืองและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใน 14 ชุมชน 14 จังหวัด 14 มหาวิทยาลัยจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ฝึกฝนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ และเปิดประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบการบริการ (Service Design) นำมาใช้ในการพัฒนาโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนที่แต่ละแห่งสนใจ


    ซึ่งมีมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกเข้ารอบตัดสิน 3 แห่ง 1.มรภ.สงขลา ออกแบบแก้ปัญหาขยะของชุมชนเก้าเส้งที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เด็กขาดพื้นที่เล่น ต้องไปเล่นไกลหูไกลตาผู้ปกครอง ด้วยการออกแบบของเล่นให้กับเด็กในชุมชน ที่เป็นได้ทั้งของเล่นและเป็นเครื่องเก็บขยะคัดแยกขยะไปในตัว


    โดยเน้นวิธีคิดแบบสนุกคิด เด็กก็จะได้ทั้งความสนุก และได้ช่วยกันกำจัดขยะชุมชนอย่างเป็นระบบ ออกแบบให้ชุมชนมีธนาคารขยะ นำขยะที่เด็กเก็บได้ไปขาย ส่วนขยะที่ขายไม่ได้ เช่น ขยะเปียก ก็ออกแบบให้ชุมชนนำไปหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพใช้ประโยชน์ต่างๆ


    2.มรภ.อุบลราชธานี แก้ปัญหาความสับสนในเส้นทางให้บริการรถสองแถวในตัวเมือง จ.อุบลราชธานี ที่ไม่มีเส้นทางเดินรถบอกผู้โดยสารให้ชัดเจน ใช้การออกแบบให้มีการติดตั้งเส้นทางการเดินรถบนรถสองแถว เพื่อบอกจุดจอดรับ-ส่ง/data/content/26887/cms/e_acefjnrvx279.jpgทุกจุดอย่างละเอียด เหมือนป้ายบอกสถานีบนรถไฟฟ้า เวลาจะจอดจุดใด คนขับก็จะกดปุ่มสัญญาณไฟบอกชื่อจุดจอด และมีเสียงแจ้งชื่อจุดที่จะจอดให้ผู้โดยสารได้ยินด้วย และ 3.มรภ.กำแพงเพชร มีการออกแบบตลาดในฝันให้ชาวเขาเผ่ามูเซอ ที่มีปัญหาขยะและความไม่สะอาดเกิดขึ้นในตลาด ลดทอนเสน่ห์ของตลาดท้องถิ่น แก้ปัญหาโดยออกแบบบูธจำหน่ายสินค้าให้มีฟังก์ชันครบครัน ทั้งที่เก็บของ ที่ลำเลียงสินค้าและที่ทิ้งขยะ ให้เป็นระบบระเบียบคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของร้านค้าชาวมูเซอ พร้อมทั้งให้ชาวมูเซอช่วยออกแบบร้านค้าของตนเองเป็นไปในแนวเดียวกัน ทั้งป้ายชื่อตลาด ป้ายชื่อสินค้า วิธีจัดวางสินค้า วิธีดูแลความสะอาด


    น.ส.วนิสา สุริยะ อายุ 37 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวว่าเชียงใหม่จะจัดเทศกาลงานออกแบบ Chiang Mai Design Week และมีกิจกรรมปั่นจักรยานชมแหล่งสร้างสรรค์งานออกแบบของเมืองเชียงใหม่ ก็รีบสมัครเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเชียงใหม่เหมาะกับการจัดงานรูปแบบนี้ เนื่องจากเป็นเมืองที่ชีวิตผู้คนไม่ต้องการความเร่งรีบ มีเวลาเสพศิลปะ อีกประเด็นหนึ่ง เชียงใหม่เป็นเมืองการศึกษา จึงเข้าถึงเยาวชนรุ่นใหม่ได้ดี มีความสนุก และเป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมสำหรับเด็กและเยาวชนในการไปดูผลงานศิลปิน นักออกแบบชาวเชียงใหม่และศิลปินชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตสร้างสรรค์ผลงานที่เชียงใหม่


    “งานหลายชิ้น ศิลปินหลายคน เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งบ้านเรือน สถาปัตยกรรมเก่าแก่ของล้านนา มีอยู่ตามตรอก ซอก ซอย เมื่อมีโอกาสได้ปั่นจักรยานไปดูบ้านร้อยปี ถนนนิมมานเหมินทร์ หรือบ้านเก่า 140 ปี ชุมชนวัดเกตุ ที่ปกติจะไม่เปิดให้เข้าชม การได้เห็นวิถีชีวิตคนเชียงใหม่ดั้งเดิม ทำให้เกิดความตระหนักถึงสิ่งที่ขาดหาย ซึ่งควรอนุรักษ์ ฟื้นฟูไว้ ส่วนสิ่งใดที่สามารถพลิกแพลงด้วยงานสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าต่อไปโดยคงเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นไว้” น.ส.วนิสากล่าว


    เช่นเดียวกับ น.ส.ปิยะสุดา มหาวัล อายุ 28 ปี ประกอบธุรกิจขายของแต่งบ้าน กล่าวว่า ได้ปั่นจักรยานไปชมและเรียนรู้วิธีการทำเครื่องเขินของชุมชนวัดนันทาราม ได้ดูงานของศิลปินทั้งชาวเชียงใหม่และต่างชาติที่มาออกแบบสร้างแบรนด์ของตัวเอง ทำให้ได้มุมมองและเกิดแรงบันดาลใจจากผลงานหลายชิ้น ที่นำวัสดุซึ่งเรามองข้ามในชีวิตประจำวันมาออกแบบเป็นของตกแต่งบ้านได้อย่างสวยงาม เป็นการเพิ่มจินตนาการ และช่วยเพิ่มไอเดียสำหรับตัวเองในฐานะผู้ค้าขายได้แนวทางการศึกษาตลาด ความนิยม แนวโน้มของงานออกแบบ ว่ามีทิศทางพัฒนาไปอย่างไรบ้าง ซึ่งก่อเกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่ดีของประเทศได้อย่างดี


    นับเป็นกิจกรรมดีๆ ที่นอกจากสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้คนทุกวัย โดยเฉพาะเยาวชนของชาติแล้ว ยังสร้างความหวงแหนในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ความเป็นเชียงใหม่เอาไว้ด้วย.


 


 


     ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์


     ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code