เชียงรายน่าห่วง PM2.5 เกิน 100 กระทบสุขภาพ
ที่มา : ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
เชียงราย-แม่ฮ่องสอนฝุ่นจิ๋วแตะโซนสีแดง ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ในภาคเหนือยังคงเกินค่าหลายจังหวัด เชียงราย แม่ฮ่องสอนทะลุ 100 ไมโครกรัม
กรมอนามัยเตือนผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กในช่วงปิดเทอม เลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรงดออกจากบ้าน ในภาคเหนือยังคงเกินค่าในหลายจังหวัด โดยเฉพาะเชียงรายและแม่ฮ่องสอน พุ่งสูงเกิน 100 อธิบดีกรมอนามัยเตือนผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กในช่วงปิดเทอม รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงก็ต้องระวังสุขภาพ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ยังพบค่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งในขณะนี้เป็นช่วงเด็กปิดเทอม จึงขอความร่วมมือพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องคุมเข้มโดยให้เด็กเลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้าน นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรงดออกนอกบ้าน และงดออกกำลังกายทั้งในและนอกบ้าน ควรจัดห้องในบ้านให้เป็นห้องปลอดฝุ่น โดยลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นภายในและบริเวณบ้าน เช่น งดจุดธูป ปิ้งย่างหรือใช้ฟืนประกอบอาหาร เผาขยะ เผาเศษใบไม้/หญ้า หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมอย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
"สำหรับแนวทางการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในบ้าน มีดังนี้ 1) ให้เลือกห้องที่ห่างจากถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน และเป็นห้องที่มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด 2) ทำความสะอาดห้อง โดยใช้ผ้าชุบน้ำแทนการใช้ไม้กวาด 3) ปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกจะเข้ามา และ 4) เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้อง และไม่ควรทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้นในห้อง
ส่วนห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองทุกเดือน ล้างเครื่องปรับ อากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง ช่วงที่ฝุ่นน้อยลงแล้วควรเปิดหน้าต่างและประตูเพื่อให้มีการระบายอากาศภายในห้อง เพื่อลดการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ และติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิดจากช่องทางสื่อสารของหน่วยงานหรือสื่อต่างๆ เช่น เสียงตามสาย โทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ เพจคนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5 ของกระทรวงสาธารณสุข" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว.