เจน (GEN) ไหน ก็สุขได้ ถ้าเข้าใจตัวเอง
โลกดิจิตอลทำให้คนทุกรุ่นทุกวัย หรือจะเรียกทุกเจนเลยก็ว่าได้ มีการสื่อสารและมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างผ่านทางเทคโนโลยีมากขึ้น ในทางกลับกัน การหันหน้าพูดคุย รับรู้ความรู้สึกที่แท้จริงได้ถูกลดทอนลงไป ส่งผลให้การรับฟัง เข้าใจทั้งตัวเองและคนรอบข้างน้อยลงด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ หรือเจเนอเรชั่นวาย (Gen-Y) เท่านั้น แต่คนทุกเจนต่างก็ต้องเข้าใจตนเอง เพื่อชีวิตที่เป็นสุข และสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู นักคิดนักเขียนอิสระ หนึ่งในผู้บุกเบิกกระบวนการ "สุนทรียสนทนา" และวิทยากรในกิจกรรม SOOK Training ตอน "ความสุข Flow of Life และ การเข้าใจตนเอง โดยอาศัยหลักแห่งนิวโรไซน์" ของ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกอง ทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.ได้พูดถึงหลักของนิวโรไซน์ไว้ว่าสมองมนุษย์ มีความสามารถที่ทำให้ "จินตนาการ เท่ากับ ความจริง" ซึ่งการทำงานของสมองในการเผชิญความจริงและสิ่งที่จินตนาการเอง จะสั่งการให้ทำงานเหมือนกันหรือเท่ากัน เมื่อเราแค่วิตกกังวล หรือนึกในสิ่งที่กลัว สมองก็จะสลับการทำงานและสั่งการใน "โหมดปกป้อง" ทันที
อาจารย์วิศิษฐ์ อธิบายต่อว่าชีวิตมี 2 โหมดคือ "โหมดปกป้อง" เป็นการทำงานของ สมองที่หยุดการซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ทำ งานได้น้อยลง ส่วนรับสารจะบกพร่อง หยุดการเรียนรู้ ไม่มีพลัง และรู้สึกห่อเหี่ยว และอีกโหมดของชีวิตคือ "โหมดปกติ" สมองจะทำงานได้เต็มที่ เปิดรับสารและการเรียนรู้ ได้ดี ชีวิตสดใส มีพลัง ซึ่งโหมดปกติ จะแบ่งเป็น โหมดปกติตามยถากรรม เป็นค่าตั้งต้นของความคุ้นชิน การใช้ชีวิตแบบเดิม อยู่กับประสบการณ์เดิม ๆ และจะทำให้เรากลับไปสู่โหมดปกป้องได้อีก ส่วนอีกโหมดหนึ่งคือ โหมดปกติพิเศษ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นโหมดที่จิตเกิดสมาธิ เข้าสู่จิตตื่นรู้ มีทางเลือกเมื่อเกิดการเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ชีวิตเกิดความลื่นไหล หรือเรียกว่า "Flow"
"เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีคนฟังในสิ่งที่เราพูดอย่างตั้งใจจริง ก็จะทำให้เราเกิดความปีติสุขและทำให้ชีวิตเลื่อนไหล หรือ Flow Life และ ส่งผลต่อสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และคนรอบข้างของเรา" อาจารย์วิศิษฐ์ เน้นย้ำเมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโหมดชีวิตแล้ว กิจกรรมถัดมาจึงเป็นการนั่งล้อมวงพูดคุยกัน ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกระหว่างวัย และระหว่างคนแต่ละเจน (Gen) โดยที่แต่ละคนได้บอกเล่าถึงความสุขครั้งหนึ่งของชีวิต เล่าความประทับใจของคนที่นึกถึงแล้วมีความสุข เล่าถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้ความสุขลดลง และมีวิธีทำให้ชีวิตตนเองเลื่อนไหล (Flow) ได้อย่างไร
การใช้พื้นที่แบบนี้ พูดคุยกัน ถือว่าเป็นการดึงศักยภาพ ความคิด และความสุขของตนเอง ได้เรียนรู้ความแตกต่าง และรับฟังเรื่องราวการใช้ชีวิต ความรู้สึก และที่มาของผู้ร่วมวง ทำให้เกิดการยอมรับและเข้าใจกัน พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในความแตกต่างได้ และนำไปสู่การใช้ชีวิตที่เลื่อนไหลหรือ Flow of Life ได้อย่างสุขใจ
"เมื่อเราเข้าใจโหมดชีวิต ก็สามารถปรับมาใช้กับการทำงาน และการใช้ชีวิตตนเองได้ ทำให้เราเกิดสติ และรู้จักวิธีปฏิบัติตนเองอย่างไรเมื่อเกิดเรื่องราวกระทบจิตใจ" ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่าง ธีรินทร นวลฤทัย หรือ น้องโน้ต พนักงานบริษัท วัย 27 ปี เด็กเจนวายอย่างแท้จริง พูดถึงข้อคิดที่ได้จากกิจกรรม
ไม่ใช่แค่คนเจนวายเท่านั้น ที่เกิดความวุ่นวายจิตใจ อีกหนึ่งมุมมองของคนเจเนอเรชั่นเอ็ก (Gen-X) อย่าง สรินยา ลูกรัก พนักงานราชการ วัย 40 ปี ได้บอกว่า ตนมีเรื่องกังวลภายในใจที่ไม่สามารถบอกใครได้เช่นกัน แต่ด้วยความที่สนใจ ด้านปรัชญาและศาสนาอยู่แล้ว และปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับฝึกอบรม ก็เริ่มสนใจกระบวนการใช้ภาษาเป็นสื่อคิด ซึ่งสำหรับเรามันได้คำตอบบางคำตอบที่ไม่ได้ตั้งคำถาม เหมือนข้างในจิตใจของเราได้รับคำตอบแบบองค์รวมทั้งหมด ทำให้จิตใต้สำนึก ความรู้สึกนึกคิดของเรา มันได้รับการฟื้นฟู ได้รับความเข้าใจอย่างแท้จริง
"หากพูดถึงคนเจนวาย จากการได้รู้จักและสัมผัสโดยตรง ตนมองคนเจนวายเป็นคนที่คิดเร็วทำเร็ว ไม่ค่อยลึกซึ้ง ไม่ซับซ้อน แต่มีความเป็นมิตร เข้าหาได้ง่าย ถ้าเราเปิดใจยอมรับฟังเขา เขาก็จะเปิดใจพูดคุยกับเราเหมือนเพื่อนกัน และทำให้เกิดความสัมพันธ์ดีทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัวด้วย" สรินยา เผยมุมมองที่มีต่อคนเจนวาย
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์