เคล็ดลับ"ผิวลูกน้อย"นุ่มนวลอย่างแข็งแรง
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์
แฟ้มภาพ
ผิวของเด็กทารกแรกเกิดนั้นบอบบางมาก ยิ่งช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ทำให้อากาศชื้นและลูกน้อยไม่สบายตัว
พ่อแม่ส่วนใหญ่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลผิวอ่อนๆ ของลูกน้อยมากเป็นพิเศษ แต่ถึงแม้จะดูแลอย่างดีเท่าไหร่ก็ตามก็มักจะมีปัญหาเรื่อง “ผื่น” อยู่เสมอ ซึ่งผื่นในเด็กทารกนั้นพบได้จากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปมักไม่รุนแรง แต่อาจเป็นเหตุให้ลูกน้อย หงุดหงิด ไม่สบายตัว และอาจสร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่น้อย
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยแพทย์หญิงนุชนาฏ รุจิเมธาภาส นายแพทย์ชำนาญการ งานโรคผิวหนัง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการของผื่นในเด็กทารก สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองไว้ว่า “ผื่น” เป็นกลุ่มอาการของโรคที่แสดงอาการทางผิวหนัง โดยในวัยเด็กมักมีปัญหามากมาย อาทิ ผดร้อน ผื่นผิวหนังอักเสบ ภููมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ผื่นผ้าอ้อม (diaper rash) เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรคมีวิธีการรักษาและคำแนะนำที่แตกต่างกัน เช่น ในกรณีผดร้อนลักษณะผื่นที่พบบ่อยในเด็ก เนื่องจากการระบายความร้อนออกทางเหงื่ออาจจะยังไม่ดีนัก แนะนำให้หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด ใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง หรืออาบน้ำบ่อยขึ้น เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนอบอ้าว เพราะยิ่งเหงื่อออกมากก็มีโอกาสเกิดผดผื่นได้ง่าย ซึ่งถ้าผื่นไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม
ผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) เริ่มจากลักษณะผิวหนังแห้ง เป็นวงๆ เมื่อพ่อแม่ลูบผิวของลูกจะพบว่าผิวบริเวณนั้นค่อนข้างสาก และแห้งเป็นขุย สามารถเป็นได้ทั่วตัว โดยในทารกมักพบบริเวณแก้ม ลำคอ และด้านนอกของแขน ซึ่งผิวหนังบริเวณนั้นจะลักษณะแห้งและคันมาก โดยเฉพาะในเวลากลางคืนหากไม่ใส่ถุงมือทารกก็อาจจะเกาจนเลือดไหล ทำให้ผิวอักเสบและบวม ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวแตกจนมีแบคทีเรียเข้าไป ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนและชื้นอย่างนี้ เหงื่อและความชื้นอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผิวของลูกที่อักเสบอยู่แล้วเกิดความระคายเคืองเพิ่มขึ้นได้ โดยทั่วไปการดูแลเบื้องต้น ควรเริ่มจากการดูแลผิวหนังเบื้องต้น ได้แก่ การอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำร้อนจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง หลังอาบน้ำควรทาครีมชุ่มชื้นทันทีทั่วร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำหอม เนื่องจากน้ำหอมที่ใส่มาในครีมอาบน้ำหรือผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้ได้ หากผื่นแดงคันมากอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาทาสเตียรอยด์ในช่วงสั้นๆ ควรได้รับคำแนะนำและสั่งยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเด็กโดยตรง
นอกจากนี้ กลุ่มผื่นประเภทอื่นๆ นั้น อาทิ ผื่นผ้าอ้อม (Diaper rash) ก็สามารถรักษาได้ โดยทั่วไป ผื่นผ้าอ้อม เป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการระคายเคืองจากปัสสาวะ หรือ อุจจาระ เนื่องจากโดยทั่วไปหากปัสสาวะที่ขังอยู่นาน จะทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบระคายเคืองได้ ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีเจลซึมซับและทำด้วยวัสดุระบายอากาศได้ดี ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอย่างน้อยทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ลูกถ่ายหนัก และทำความสะอาดทุกครั้งก่อน เปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ และอาจทาครีมเพื่อช่วยป้องกันผิวหนัง ไม่ให้ถูกสารระคายเคือง หรือบางกรณีผื่นผ้าอ้อมอาจเกิดจาก การติดเชื้อรา ซึ่งเชื้อรามักเติบโตได้ดีในสภาวะอับชื้น จึงควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย หลังอาบน้ำทำความสะอาดบริเวณซอกต่างๆ แล้วซับให้แห้ง อาจจะทาแป้งบางๆ เพื่อให้ดูดซับความชื้นและลดการเสียดสีผิวของลูก แต่ต้องระวังอย่าทาแป้งมากเกินไป เพราะแป้งจะจับกับเหงื่อที่ออก ในบริเวณนั้นกลายเป็นคราบหรือก้อนแป้ง ทำให้ผิวชื้นแฉะตลอดเวลาและทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
การป้องกันและดูแลรักษาลูกน้อยให้ห่างไกลจาก “ผื่น” สามารถทำได้โดยเริ่มต้นดูแลสุขภาพผิว และรู้จักสังเกตกลุ่มอาการต่างๆ แยกแยะประเภทของผื่นแต่ละชนิดเพื่อให้ง่ายและรวดเร็วต่อการรักษา แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ควรปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยเฉพาะ เพราะยิ่งรู้เร็วลูกน้อยก็จะห่างไกลและสบายผิวมากขึ้น
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเด็กหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ เรื่อง “ผื่น” หรือผิวหนังลูกน้อย สามารถปรึกษาและเข้ารับบริการตรวจได้ในวันจันทร์และวันพุธ เวลา 08.00-12.00 น. หรือติดต่อโทร. 1415 ต่อ 3904 หรือ www.childrenhospital.go.th