เคล็ดลับตั้งเป้าหมายให้ดี แล้วไปถึงให้ได้
“คนเราทุกคนโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่น ถ้ามีเป้าหมายในชีวิต จะใช้พลังงานชีวิตอย่างมีทิศทาง แม้จะถูกหรือผิด แต่ก็จะเกิดการพัฒนาตัวเองจากการมีเป้าหมายตรงนั้น และที่สำคัญคนที่มีจุดหมายจะสามารถทนฝ่าฟันต่ออุปสรรคได้ดีกว่าคนที่ไม่มีจุดหมาย” บางส่วนจากคำสัมภาษณ์โดยนายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต , อดีตผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. และเจ้าของ YouTube ปลดล็อกกับหมอเวช
แน่ชัดว่า เป้าหมายในชีวิตนั้นมีความสำคัญ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังหาเป้าหมายไม่เจอ หรือหลายคน แม้ลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ หรือไปแล้วแต่ไม่ถึงเป้าหมายจนท้อไปเสียก่อน
หากคุณเป็นคนเหล่านั้น แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยแก้ปัญหาของคุณได้
1. เป้าหมายต้องชัด เจาะจง ลงรายละเอียด
การตั้งเป้าหมายควรมีรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น แทนที่จะตั้งเป้าหมายว่า ปีใหม่นี้จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ให้ระบุชัดว่า อยากให้ชีวิตดีขึ้นในด้านไหน เช่น การตั้งเป้าหมายอยากมีสุขภาพดี เราสามารถชี้ชัดลงไปในเชิงผลลัพธ์ อย่างการจะลดน้ำหนักให้ได้ 3 กิโลกรัม ใน 3 เดือน หรือการเป้าหมายเชิงพฤติกรรม อย่างการหยุดกินเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และลดขนมหวานลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยกิน อย่างไรก็ตามการตั้งเป้าหมายที่ดีควรมุ่งเป้าไปยังสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต เช่น อยากลดเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดี จะได้อยู่กับคนที่เรารักไปอีกนาน เหตุผลที่มีคุณค่าแบบนี้จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ดีกว่า
2. กรอบเวลาต้องชัด
การตั้งเป้าหมายต้องมีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน และต้องตั้งใจทำให้สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นควรตั้งระยะเป้าหมายที่ไม่ยาวเกินไป สำหรับวัยรุ่นยังมีโอกาสในชีวิตอีกมาก จึงเหมาะกับการวางเป้าหมายในระยะสั้น หรือระยะกลาง โดยอาจแบ่งย่อยเป้าหมายระยะใกล้ในแต่ละเดือน เพื่อให้เกิดความสำเร็จหลายระยะ สร้างความภูมิใจ ให้มีแรงถึงเป้าหมายใหญ่ได้
3. เป้าหมายไม่เล็กไป และไม่ใหญ่เกินเอื้อม
การตั้งเป้าหมายควรอยู่บนพื้นฐานของความจริง ต้องไม่ยากเกินความสามารถและสามารถทำได้จริง หรือไม่ท้าทายเกินจนเอื้อมไปไม่ถึง ขณะเดียวกันเป้าหมายเล็กไปก็ไม่ดี ควรตั้งเป้าที่ต้องใช้ความพยายามในการไขว่คว้า จะได้รู้สึกภูมิใจ เช่น ตั้งเป้าอยากเป็นคนตื่นเช้าจะได้ไปทันเรียน ก็ค่อยๆ ปรับตัวสัก 2 วันต่อสัปดาห์ก่อน เมื่อทำสำเร็จจึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนวันเข้าไป จนถึงเป้าหมายกลายเป็นคนตื่นเช้าเป็นนิสัย เกิดความภูมิใจจากการได้ลงมือทำเอง
4. ขั้นตอนระหว่างทาง สร้างพลังมากกว่าผลปลายทางที่ได้รับ
ควรตั้งเป้าหมายเชิงพฤติกรรม โดยเน้นที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เช่น แทนที่จะตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัมให้ได้ แต่เปลี่ยนมาตั้งเป้าว่า จะวิ่งให้ได้สัปดาห์ละครั้ง หรือเปลี่ยนมาใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟท์ พยายามให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าต้องมีวินัย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
5. ต้องมีตัวชี้ชัดความสำเร็จ
นอกจากมีเป้าหมายแล้ว การมีตัวชี้วัดผลของความสำเร็จเพื่อสร้างมาตรฐานในการวัดความก้าวหน้าก็สำคัญเช่นกัน เพื่อจะได้รู้ว่าทางที่เลือกยังอยู่บนเป้าหมายหรือไม่ เช่น ตั้งเป้าเลิกเหล้า อาจวัดผลจากผลการตรวจสุขภาพตับที่จะฟื้นฟูดีขึ้นเมื่อหยุดการดื่มแอลกอฮอล์
6. กำลังใจสร้างพลังใจให้ไปต่อ
คอยปรึกษาคนที่ไปถึงเป้าหมายได้จริง บวกกับอาศัยแรงสนับสนุนและกำลังใจจากคนรอบข้าง เช่น การโพสต์ลงโซเชียลว่า วันนี้ออกวิ่ง การเห็นยอดไลค์หรือคำชม จะช่วยสร้างกำลังใจ ส่วนฝ่ายกองเชียร์ก็อาจได้รับแรงบันดาลใจ เผื่อวันไหนลุกขึ้นมาเอาชนะใจตัวเองบ้าง เกิดเป็นผลดีสร้างแรงอึด สร้างลูกฮึดให้สำเร็จ
7. แม้ไม่ถึงเป้า แต่อย่างน้อยก็ได้ลอง
เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ต้องรู้จักยอมรับความล้มเหลว รวมถึงให้อภัยตนเอง ให้คิดบวกว่า ถือเป็นข้อดีที่เราได้รู้ขีดความสามารถตัวเองในครั้งนี้ หากเป้าหมายสำเร็จ หรือรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองทำได้ดีเกินคาด จะเป็นแรงส่งสำคัญไปสู่เป้าหมายใหม่ในวันหน้า
เป้าหมายต้องมี แต่ถ้าจะยิ่งดี ควรเพิ่มสิ่งเหล่านี้ด้วย
นอกจากการตั้งเป้าหมาย ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้
– จัดการสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมคนเรา เช่น คนสูบบุหรี่จะอยากสูบบุหรี่หลังกินอาหาร หรือขณะเข้าห้องน้ำขับถ่าย กินเยอะมากเมื่อเจออาหารแบบบุฟเฟต์ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงต้องครอบคลุมการทบทวน และจัดการสิ่งแวดล้อมแบบที่ทำให้เราเบี่ยงแบนออกไปจากเป้าหมาย
– หาคนคอยช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ คนรัก หรือเพื่อนที่เคยให้คำแนะนำและให้กำลังใจ โดยเราต้องบอกพวกเขาให้ชัดเจนว่า เรากำลังทำอะไร และอยากให้ช่วยอะไร
– หมั่นเติมความรู้และทักษะที่จำเป็น เช่น ไม่พยายามอดนอน เพราะรู้ว่าทำให้อยากอาหารมากขึ้น
– เลือกคำพูดที่ใช้บอกตัวเองให้ดี เช่น ควรเป็นคำพูดเชิงบวก หลีกเลี่ยงคำพูดที่บั่นทอนกำลังใจ เช่น ขอนิดหน่อย ไม่เป็นไรหรอก , เดี๋ยวค่อยทำก็ได้
– ให้รางวัลตัวเองบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจให้เรามุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไปจนประสบผลสำเร็จ การให้รางวัลเมื่อ “ได้ทำ” และ ‘ทำได้’ ดีกว่าให้เมื่อ ‘ประสบผลสำเร็จแล้ว’ เช่น ให้รางวัลตนเองเมื่องดกินขนมหวานได้ 1 สัปดาห์ ดีกว่าให้เมื่อลดน้ำหนักได้ตามที่ต้องการ
– แบ่งปันประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ในกลุ่มผู้มีความสนใจคล้ายกัน เช่น กลุ่มปรับพฤติกรรมการกินอาหาร กลุ่มลดน้ำหนักตัว จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจแก่กัน ตลอดจนเป็นโอกาสในการประกาศแผนของตนเอง และทบทวนเพื่อปรับปรุงแผนที่ทำมา
(อ้างอิงข้อมูลจากคู่มือ เส้นทางสร้างสมดุลชีวิต เทคนิคการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ โดย นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล)
เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้เรามีแรงขับเคลื่อนชีวิตด้วยความมุ่งมั่น เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นพลัง แม้จะมีวันที่ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ก็ถือเป็นบทเรียน แต่หากรู้สึกท้อ ขอให้รู้ไว้ว่า ยังมี สสส. และเพื่อนภาคีคอยเคียงข้างให้กำลังใจอยู่เสมอ และพร้อมสนับสนุนข้อมูลดี ๆ ให้ทุกคนมีพลังก้าวต่อไปสู่เป้าหมาย