เคล็ดลับดูแลสุขภาพ หลังปาร์ตี้ฉลองปีใหม่

 

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มักจะควบคู่กับงานปาร์ตี้ การเฉลิมฉลองกินเลี้ยง ซึ่งหนีไม่พ้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายคนสนุกสนานกับงานปาร์ตี้ กินดื่ม จนขาดสติทำให้ได้รับความทุกข์มาแทนความสุข

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงรณรงค์ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักว่าแอลกอฮอล์สร้างปัญหาให้กับสังคมอย่างมาก

นอกจากแอลกอฮอล์แล้ว สสส. ยังแนะนำการเลือกบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม ที่เป็นอีกหนึ่งของการส่งความสุขให้แก่กันในช่วงปีใหม่ได้

สง่า ดามาพงษ์” ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย แนะนำว่า อาหารเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในช่วงปีใหม่และควรหลีกเลี่ยงเพราะเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่สุด คือ กลุ่มอาหารโปรตีนจำพวก ปิ้งย่าง รวมไปถึงอาหารไขมันสูง ผัดๆ ทอดๆอาหารรสหวาน เค้ก ขนมหวาน

อาหารกลุ่มโปรตีน โดยเฉพาะพวกปิ้งย่างหากบริโภคมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายเหตุเพราะร่างกายได้รับสารไนโตรเจนเกินพอดี ทำให้ไตและตับทำงานหนัก ขณะที่อาหารไขมันสูงหากบริโภคมากๆ ไขมันจะไปเก็บใต้ผิวหนัง หน้าท้อง กลายเป็นไขมันส่วนเกิน หากบริโภคจนเป็นนิสัย สุดท้ายก็จะกลายเป็นโรคอ้วน ก่อโรคเรื้อรัง พวกเบาหวานความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า อาหารกลุ่มปิ้งย่าง ไขมันสูง เป็นที่นิยมไม่เพียงแต่เทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ภาวะปกติก็นิยมบริโภค อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้เพิ่มเมนูผักที่มีกากใยบ้างพบน้อยมากในงานปาร์ตี้ ทั้งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมนูที่อยากแนะนำให้บริโภคช่วงเทศกาลปีใหม่คือ พวกต้ม ยำ หรือสลัด โดยเฉพาะเมนูไทยๆ อย่างเมนูส้มตำ ไก่ย่าง ลาบปลาดุกย่าง แป๊ะซะ ปลานึ่งจิ้มแจ่ว หรือพวกน้ำพริกรับประทานกับผักสด

สำหรับเครื่องดื่มที่นิยมช่วงเทศกาลปีใหม่หนีไม่พ้น “กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” พบว่าเป็นเครื่องดื่มที่นิยมนำมาเฉลิมฉลองมากที่สุดในทุกช่วงเทศกาล หรือแม้แต่ภาวะปกติ แม้จะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพเลยก็ตาม จริงๆ สามารถใช้เครื่องดื่มชนิดอื่นได้ อย่างน้ำหวาน น้ำสมุนไพรเป็นต้น

สำหรับคนที่ดื่มก็ควรดื่มอย่างมีสติ ควรดื่มแบบพอดี หากเริ่มรู้สึกหน้าตึง พูดวกวน ครองสติไม่ได้ แบบนี้ถือว่าเกินขอบเขต โดยเฉพาะหากต้องขับรถยนต์กลับบ้านก็ไม่ควรอย่างยิ่งเพราะจะส่งผลร้ายต่อทั้งตัวเองและคนข้างเคียง รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ

แต่หากเกิดอาการ “เมาค้าง” หรือดื่มแล้ววันรุ่งขึ้นมีการปวดศีรษะ “สง่า ดามาพงษ์” ก็มีคำแนะนำว่า บางคนเข้าใจเมื่อเมาค้างแล้วต้องไปถอนโดยการดื่มใหม่ จริงๆ ไม่ใช่ การถอนแบบนี้ไม่มี เรียกว่าเป็นการดื่มอีกรอบมากกว่า สำหรับการช่วยอาการเมาค้างนั้น ควรนอนพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำเยอะๆสัก 3-4 แก้ว หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่นนมอุ่นๆ น้ำสมุนไพร หรือจะเป็นน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพราะวิตามินซีจะช่วยอาการเมาค้างได้ เพราะจะช่วยไปทำให้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์เจือจาง และถูกขับออกมาจากปัสสาวะ

โดยปกติร่างกายคนเราจะสร้างแอลกอฮอล์เองในการทำให้ร่างกายสมดุล ช่วยในการเผาผลาญ แต่เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปอีก จะกลายเป็นว่าเป็นส่วนเกินของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเมา ตับจะทำหน้าที่ขับออกมา แต่หากดื่มมากๆ จนตับหยุดทำงานก็จะเกิดอาการอาเจียนออกมา และสุดท้ายร่างกายจะเพลียและหลับไป และหากพอตื่นขึ้นมาจะดื่มอีกก็จะเป็นการซ้ำเติมร่างกาย สุดท้ายทำซ้ำไปเรื่อยๆ ร่างกายไม่ไหว กลายเป็นตับแข็ง มะเร็งตับในที่สุด

นอกจากวิธีแก้อาการเมาค้างข้างต้นแล้ว ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพรหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังแนะนำ “รางจืด” สมุนไพรช่วยล้างพิษจากแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน โดยรับประทานเป็นแบบแคปซูล หรือเป็นแบบชงกินก็ได้ โดยเอาใบมาชงกินแบบชาประมาณ 7-10 ใบต่อแก้วก็ช่วยอาการให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากรางจืดมีคุณสมบัติลดพิษแอลกอฮอล์ และไม่ทำร้ายตับ นอกจากอาการเมาค้างแล้ว ยังมีสมุนไพรช่วยย่อยอาหารด้วย คือ ขมิ้นชัน หรือวิธีง่ายๆ การรับประทานโยเกิร์ตก็ช่วยปรับสมดุลและยังช่วยย่อยอาหารได้ด้วยเป็นเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่นำไปใช้ได้หลังงานปาร์ตี้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code