เคลื่อนสังคมด้วย “ละคร”พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงหน้าเวที
พูดถึง “ละคร”หน้าที่หลักของมันก็คือการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม หากแต่มองให้ลึกลงไปแล้วนั้น “ละคร”ยังสามารถสะท้อนการใช้ชีวิตและสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการส่งผ่านข้อมูล ข่าวสาร ความหมาย และความเป็นไป อีกทั้งยังทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ในหลายแง่มุมอีกด้วยซ้ำ และนั่นเองที่ส่งผลให้ “ละคร”สามารถช่วยสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญหาของคนเรา โดยเฉพาะกับเยาวชนได้โดยที่ใครหลายคนยังไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็น “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง”ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงานสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สสส.) บอกว่า ละครสามารถสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนและสร้างสุขภาวะของสังคมได้ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวของเยาวชน โดยเสริมพลังคุณค่าเชิงบวก ด้วยการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการละคร ที่มุ่งให้เกิดการรับรู้ความจริง รู้เหตุ รู้ผล มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเอง รวมถึงพัฒนาจิตอาสาโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม เพื่อทำความดีงามเพื่อส่วนรวม
“สิ่งแรกที่สัมผัสได้กับละครนั่นคือ ความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน ทั้งกายและใจ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เด็กและเยาวชนจะได้รับนั่นคือ เด็กจะเกิดความคิดอ่านที่ดี ถูกต้องและเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากยิ่งขึ้น จนซึมซับไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่การมาบอกเล่าเรื่องราวเพียงอย่างเดียว และความสุขตามประสาเด็กที่ได้คิดได้เล่นได้แสดงออกนั้น ถือเป็นพื้นฐานไปสู่การค้นพบตัวเอง ซึ่งมันเป็นประโยชน์กับตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และแบ่งปันไปสู่สังคมในที่สุด”นพ.บัญชากล่าว
นพ.บัญชา กล่าวต่ออีกว่าปัจจุบันละครกินพื้นที่สื่อในสังคมไปเป็นจำนวนมาก ถ้าเราสามารถผสมผสานความบันเทิงกับสติปัญญาเข้าด้วยกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่ร่วมโครงการ ผู้ชม สังคม ได้เปิดใจซึมซับเนื้อหา เรียนรู้ เปลี่ยนทัศนะคติ เป็นปัญญาใหม่ที่ถูกต้อง
ด้าน นายพฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการฯ บอกว่า โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการละครสะท้อนปัญญาปี 52 ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ทั้งจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผลความรับผิดชอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใจกว้างเปิดรับความคิดเห็นคนอื่น รวมทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม การแสดงออก การสื่อสารที่เหมาะสม ที่สำคัญคือเด็กสามารถปรับเปลี่ยนทัศนะคติในการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น และแบ่งปันให้สังคมได้
นายพฤหัส กล่าวต่อว่า ทางโครงการฯได้พัฒนาศักยภาพนักการละครรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับชุมชน และสร้างเสริมความแข็งแกร่งของภาคีเครือข่าย เพื่อให้เด็กสามรถสร้างละครได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปลุกกระแสการใช้ศิลปะการละครเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
“งานละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เด็กและเยาวชนจะได้ร่วมคิดค้นประเด็นและเรื่องราวต่างๆในแต่ละชุมชนที่ได้ไปจัดเก็บข้อมูลมา จัดทำเป็นบท รวมทั้งฝึกซ้อมและแสดงละคร เพื่อถ่ายทอดและให้ผู้คนได้รับทราบ ตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ถูกวิธี เพื่อคนในชุมชนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”นายพฤหัสกล่าว
ในชีวิตนี้เราดูละครมาแล้วกี่เรื่อง จะดีไหมละครที่ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นละครที่สะท้อนชีวิตจริง และสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความคิดของคนเราให้ไปในทางที่ดีได้ ที่สำคัญละครนั้นสามารถแก้ไขปัญหาในชุมชนได้อีกด้วย…ใครยังไม่เคยชมละครแบบนั้น ลองมาสัมผัสได้ที่นี่…แล้วคุณจะรู้ว่าละครทำได้มากกว่าที่คุณคิด
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th