เครื่องแกงต้นกล้าอาชีพ
ที่มา : แฟนเพจสุขภาวะชุมชน จาก หนังสือ "วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ส่งเสริมอาชีพ"
ภาพประกอบจากแฟนเพจสุขภาวะชุมชน
แต่เดิมการทำเครื่องแกงนั้นเป็นความประสงค์ของกลุ่มทำขนมในหมู่บ้านที่อยากจะขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งคู่ไปด้วยกัน จึงได้ยื่นเรื่องเพื่อขอสนับสนุนเครื่องบดจากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือที่รู้จักกันดีว่างบ SML ทว่าแม้จะได้รับการสนับสนุนเครื่องมือ แต่ทางผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าถ้าให้เรื่องการทำเครื่องแกงไปอยู่ในการรับผิดชอบของกลุ่มทำขนมหมด ก็จะเป็นการเสียโอกาสในการขยายงานในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น จึงสั่งการให้นำเครื่องบดมาไว้ที่ศาลาประจำหมู่บ้านแทน
เครื่องบดจึงถูกทิ้งร้างอยู่พักใหญ่ ต่อมาทางสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. ของอำเภอ เข้ามาทำโครงการต้นกล้าอาชีพภายในพื้นที่ และก็ทราบมาว่ามีเครื่องบดอยู่ จึงนำเสนอแนวคิดว่า ควรจะทำเครื่องแกง และเลือกสมาชิกในหมู่บ้านจำนวน 10 คน จากนั้นส่งวิทยากรซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการ มาอบรมเป็นระยะเวลา 5 วันที่ศาลาหมู่บ้าน สอนทำเครื่องแกง 3 ประเภทคือ แกงส้ม แกงกะทิ และแกงพริก เริ่มฝึกมีนักเรียน 10 คน ต่อมาขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีเกือบ 20 คน
ต่อมาผู้เข้าร่วมอบรมได้ก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553 ลงหุ้นคนละ 100 บาท พร้อมกับหยิบยืมจากโครงการ SML มาอีก 10,000 บาท เพื่อเป็นค่าวัตถุดิบ ทั้งพริก กระเทียม กะทิ หอม และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอ กะละมัง หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่เครื่องแกง
หลังผลิตเสร็จ จะส่งขายตามงานเทศกาลต่างๆ และฝากขายตามร้านค้าในตัวตำบลและอำเภอ ทว่าต้องยอมรับว่าในช่วงแรก ด้วยความที่เป็นน้องใหม่ในวงการ คนทั่วไปยังไม่รู้จัก ทำให้ยังขายไม่ดี มีกำไรกลับมาเล็กน้อย ต่อมาจึงเสริมผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของทุกคน คือการทำขนม โดยสินค้ามีทั้งข้าวเหนียวกวน ข้าวพอง กล้วยฉาบ และกะละแม
ปัจจุบัน ทางกลุ่มก็ยังคงเดินหน้าผลิตเครื่องแกงอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้ายังมี 3 ตัวเหมือนเดิม 1 สัปดาห์ ผลิต 3 วัน ส่วนใหญจะกระจายสินค้าไปตามงานเทศกาล งานบุญต่างๆ มากเป็นพิเศษ ส่วนสินค้าที่เป็นขนมก็มีข้าวเหนียวกวน กล้วยฉาบ ถั่วราดหน้าสมุนไพร ถั่วราดหน้าโอวัลติน ถ้าวันไหนแดดดีๆ หน่อย ก็จะทำข้าวพองขายด้วย ส่วนกะละแมนั้น ยกเลิกการผลิตไปแล้ว เพราะต้องอาศัยแรงงานและเวลาในการผลิต จึงไม่คุ้มค่าเท่าใดนัก
ส่วนการแบ่งรายได้นั้น ในช่วงแรกๆ มุ่งไปที่การปลดหนี้ SML ก่อน ภายหลังหนี้หมด ก็ใช้ระบบวิธีคิดด้วยการนำกำไรมาหักต้นทุนก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท จากนั้นหักไว้อีก 300 บาท เป็นกองกลางสำหรับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจเสียหาย ส่วนที่เหลือนำมาหารตามรอบการผลิตแต่ละครั้ง จากนั้นก็มาดูว่าแต่ละวันมีคนมาช่วยงานกี่คน หารออกมา แล้วแบ่งเงินให้โดยเฉลี่ยแล้วจะได้ประมาณพันกว่าบาท ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าสำหรับการเป็นอาชีพเสริมที่ชาวบ้านสามารถทำได้ในเวลาว่าง