เครื่องมือป้องกันเยาวชนติดบุหรี่

จัดเรตติ้งจุดเริ่มต้นจากพระราชบัญญัติ

เครื่องมือป้องกันเยาวชนติดบุหรี่

           

               ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ระบุชัดถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ในการชักจูงให้เยาวชนเริ่มต้นสูบบุหรี่ พบว่า ทั่วโลกมีผู้ชมวัยรุ่นอายุ  12-17 ปี  ร้อยละ 20 ของ 45 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 8.8 ล้านคน เฉลี่ยจะมีเด็กวัยรุ่นชมภาพยนตร์ปีละ  1.1 ล้านคน ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อการสูบบุหรี่อย่างสูง ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกจึงเรียกร้องให้มีการจัดระบบเรตติ้งภาพยนตร์มาใช้กับภาพยนตร์ที่มีการสูบบุหรี่ สำหรับประเทศไทย มีการจัดเรตติ้งโดยมีจุดเริ่มต้นจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ดังนั้นเพื่อให้สังคมมีความเข้าใจและร่วมกันสนับสนุนให้การจัดเรตติ้งเป็นเครื่องมือในการป้องกันเยาวชนติดบุหรี่อย่างแท้จริง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยกันในประเด็น เรตติ้งเป็นเครื่องมือป้องกันเยาวชนไม่ให้ติดบุหรี่ได้หรือไม่ อย่างไร

 

เครื่องมือป้องกันเยาวชนติดบุหรี่

              คุณประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า บุหรี่เป็นประเด็นย่อยในประเด็นหลักด้านสารเสพติด ในการพิจารณาภาพยนตร์จะพิจารณาจากการปรากฏตัวใน 3 ลักษณะ คือ (1) การใช้บุหรี่ หรือสารชนิดต่างๆ ที่เป็นลักษณะเดียวกับบุหรี่ (2) การทำให้เห็นหรือเข้าใจหรือเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการใช้บุหรี่ (3) การแสดงให้เห็นสัญลักษณ์หรือภาพตัวแทนของการใช้บุหรี่ โดยมีระดับอายุใน 5 ระดับ คือ ทุกวัย 13+ 15+ 18+ และ 20+ และมีเกณฑ์ระดับความรุนแรงของภาพเป็น 4 ระดับ คือ (0) ไม่มี (1) ระดับน้อย (2) ระดับกลาง และ (3) ระดับมาก โดยพิจารณาความรุนแรงจาก 5 ประเด็น คือ บริบทของเรื่อง ความถี่ ระยะเวลา เป้าหมายของภาพบุหรี่ และตัวแสดงที่ทำให้ปรากฏ

เครื่องมือป้องกันเยาวชนติดบุหรี่

 

             นพ.ประเสิรฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า เรตติ้งคือ เครื่องมือในการป้องกันเยาวชน และเหตุผลที่เห็นด้วยเนื่องมาจากเคยเป็นหมอด้านโรคปอดมาก่อน และทนไม่ได้ที่เห็นคนจำนวนมากเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งมีบุหรี่เป็นตัวก่อโรค โรคที่เป็นส่วนใหญ่รักษาไม่หาย ได้แต่ประคับประคอง ทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นจิตแพทย์ เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถรักษาคนเหล่านี้ได้ และทางการแพทย์ต้องหมดเงินไปมหาศาลกับโรคที่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้ ผมจึงเห็นว่าเรตติ้งเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่จะช่วยเยาวชนได้ และเราต้องทำให้ เรตติ้งเป็นอาวุธทางปัญญา ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ ถือว่าเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ประหยัดเงินจากภาระโรคที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนได้มหาศาล และในฐานะแพทย์ก็ไม่ต้องการเห็นเยาวชน ทรัพยากรของประเทศถูกเผาผลาญด้วยบุหรี่ เรตติ้งเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ช่วยกำจัดตัวก่อโรคได้  

เครื่องมือป้องกันเยาวชนติดบุหรี่

 

              ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ผมฟังคุณหมอประเสิรฐ คิดถึงตนเอง ตอนเป็นแพทย์ฝึกหัดที่สหรัฐ ได้ดูแลหอผู้ป่วยทั้งชั้นเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ตกกลางคืน คนไข้จะหอบ แพทย์ต้องเตรียมพร้อมดูแล และเห็นความทุกข์ทรมานของคนไข้ตลอดเวลา พวกเขาเหล่านี้เป็นทหารผ่านศึกจะได้เหล้าบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีฟรี  เคน ดาห์ลเกรน นักรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของสหรัฐ บอกว่า สาเหตุสำคัญอันดับ 1 ที่ทำให้วัยรุ่นในอเมริกาเริ่มต้นสูบบุหรี่ คือ การได้เห็นฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ บริษัทบุหรี่เองก็ได้บอกชัดว่า ภาพยนตร์ คือ ช่องทางการสื่อสารที่สำคัญที่เหลืออยู่ ในยุคกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ก้าวหน้า

 

เวทีความคิดเห็นจากผู้มีบทบาทในวงการภาพยนตร์

 

            คุณชัยวัฒน์ ทวีวงษ์แสงทอง รักษาการนายกสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มองว่าสำหรับเรื่องเรตติ้งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อมีภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะเข้ามาฉายในบ้านเราก็จะต้องบังคับตามกฎหมายไทย รวมถึงเรื่องการปรากฏตัวของบุหรี่ด้วย  เพราะหากมีการรณรงค์กันในภาพยนตร์ไทยกันเอง เป็นเพียงจรรยาบรรณของคนในวงการ แต่ภาพยนตร์ต่างประเทศเขาไม่ได้ทำตามด้วย เพราะไม่ใช่กฎหมายที่เขาต้องทำตาม เป็นการปิดโอกาสภาพยนตร์ทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์และเรื่องการตลาดมากขึ้นอีก  ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักก็มีแต่เมืองไทยเท่านั้น หากภาพยนตร์ไทยขายคนไทยไม่ได้ก็ถือว่าเจ๊งไปแล้วครึ่งหนึ่ง  ดังนั้นการระบุไว้เป็นกฎหมายที่ชัดเจนก็จะได้นำมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศ

เครื่องมือป้องกันเยาวชนติดบุหรี่

 

            คุณสุวรรณี  ชินเชี่ยวชาญ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอส เอฟ ซินีมา  จำกัด ดีใจที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ในฐานะของโรงภาพยนตร์เป็นหน้าที่ที่ต้องสนับสนุนสิ่งดีงาม และกลุ่มลูกค้าของเราคือเด็กและเยาวชน เยาวชนนับเป็นบุคลากรที่สำคัญของสังคมในอนาคต ดังนั้นก็ต้องช่วยกันดูแล ตนเองเห็นว่าเรตติ้งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ เพราะภาพยนตร์หรือบรรยากาศของภาพยนตร์เป็นสิ่งแวดล้อมของเด็กในด้านสื่อ นอกจากภาพยนตร์แล้วก็อยากให้ครอบคลุมไปถึงสื่ออื่นๆ ที่อาจจะอยู่ใกล้ชิดกับโรงภาพยนตร์มากกว่านี้อีก เช่นพวกวีซีดี ดีวีดี หรือแม้แต่ในอินเตอร์เน็ตที่สามารถดาวน์โหลดดูได้อย่างง่ายดาย อย่าง youtube เราจะทำอย่างไรกับการป้องกันเยาวชนจากสื่อเหล่านี้

 

            คุณพิทยากร ลีลาภัทร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทแคททาลิสท์ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  ผมคิดว่า เรตติ้งช่วยได้จริง และไม่ควรมีการตัดฉากต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างหนังบางเรื่องเกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติด ถ้าตัดก็คงเสียประเด็นของหนังทั้งเรื่อง  สำหรับฉากสูบบุหรี่ผมเห็นด้วยที่จะต้องมีการควบคุมฉากสูบบุหรี่ เพราะผมคิดว่า ภาพยนตร์มีผลกับช่วงวัย เคยเป็นเด็กแล้วช่วงหนึ่งรู้สึกว่าการสูบบุหรี่เท่มาก แต่ในที่สุดพอเราโตขึ้น เราจะรู้สึกว่าสิ่งนี้มันน่าละอาย การจัดเรตภาพยนตร์จะเป็นสิ่งที่ได้ผลกว่า การตัดหรือเบลอฉากสูบบุหรี่ ซึ่งผมเห็นว่าการทำเช่นนั้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกแผ่นผี และทำให้คนที่ทำตามกม.เป็นฝ่ายที่ลำบากแทน 

 

            มรว.เฉลิมชาตรี ยุคล บริษัทพร้อมมิตรภาพยนตร์ ผมยอมรับว่าผมเองเป็นคนสูบบุหรี่ และตอนนี้ก็คิดว่าได้เวลาที่จะเลิกสูบแล้ว เพราะผมสูบบุหรี่จัดมาก และรู้สึกว่าตัวเองทำร้ายร่างกายของตัวเองไปมาก และคุณพ่อผมเองก็สูบบุหรี่จัดมากด้วย คุณพ่อต้องผ่าตัดไตเนื่องจากสูบบุหรี่ ผมเองยอมรับเลยว่า ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีอิทธิพลต่อผมมาก และทำให้ผมเริ่มต้นสูบบุหรี่ ผมชื่นชมงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทุกวันนี้เข้มแข็งมาก แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากถามสังคมก็คือ ภาพยนตร์ที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม หรือเป็นภาพยนตร์ที่เยาวชนควรดูเป็นอย่างยิ่ง กลับไม่เห็นอยู่ในท้องตลาด หรือร้านทั่วไป แม้แต่ร้านเซเว่น ก็ไม่มี สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ดีขึ้น แต่วิจารณญาณของเยาวชนเรากลับน้อยลง จะเป็นไปได้ไหมที่เรตติ้งจะช่วยให้เยาวชนไทยมีวิจารณญาณมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

เรียบเรียงโดย :  ชูรุณี พิชญกุลมงคล  ศูนย์ข้อมูล  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

 

 

 

update 26-04-53

 

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code