เครือข่ายเยาวชนรวมพลังหยุดภัยบุหรี่

เครือข่ายเยาวชนฯ จัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก ชูแคมเปญ "พลังเด็กและเยาวชนหยุดภัยบุหรี่" หวังสังคมตระหนักพิษภัย พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อหนุนพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เชื่อช่วยหยุดนักสูบหน้าใหม่ ลดสูญเสียและเซฟค่ารักษาพยาบาล ด้านเหยื่อวัยรุ่นเปิดใจ ตกเป็นทาสบุหรี่8ปีต้องผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์หมดค่ารักษาตัวนับล้าน เตือนสิงห์อมควันกลับใจเลิกสูบ


เครือข่ายเยาวชนรวมพลังหยุดภัยบุหรี่ thaihealth


วันที่ 22 พ.ค.58 ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จากเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กว่า 100 คน จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ภายใต้แคมเปญ"พลังเด็กและเยาวชน…หยุดภัยบุหรี่" ในงานมีการเดินขบวนรณรงค์เชิญชวนประชาชนและตั้งโต๊ะลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ เพื่อลดการเข้าถึงลดความสูญเสีย  ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถเข้าร่วมลงชื่อผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.vote4tobaccolaw.com


นางสาวสุภาพรรณ์  โพธิอ่อง แกนนำเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ ต้องการสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการร้านค้า ประชาชนทั่วไป และทุกภาคส่วนตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ อีกทั้งร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนลดละเลิกบุหรี่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันงดสูบบุหรี่โลก และเชิญชวนร่วมลงชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ให้ครบ10 ล้านคน เพื่อมอบให้รัฐบาลในวันงดสูบบุหรี่โลกปลายเดือนนี้   ทั้งนี้หากย้อนดูพิษภัยของบุหรี่จากสถิติงานวิจัย พบว่า แต่ละวันคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่142ราย หรือ1เดือนบุหรี่ฆ่าคนไทยไปแล้ว4,260 ราย และเกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัว รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลดูแลผู้ป่วยอีกจำนวนกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยปกป้องชีวิตคนไทย  ซึ่งทุกวันนี้เสียชีวิตไปจากควันบุหรี่ถึงปีละกว่า 5 หมื่นคน


นายเอ(นามสมมุติ) ตัวแทนจากศูนย์ฝึกอบรมเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยเริ่มต้นสูบบุหรี่ว่า เริ่มสูบตอน ป.6 เพื่อนในกลุ่มเกือบครึ่งที่สูบโดยแอบสูบในโรงเรียนและซื้อบุหรี่ที่แบ่งเป็นมวนจากร้านค้าข้างโรงเรียน แม้อยู่ในชุดนักเรียนก็สามารถหาซื้อได้ง่าย เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมก็เริ่มดื่มเหล้า เที่ยวเตร่ และนำไปสู่ยาเสพติด เครือข่ายเยาวชนรวมพลังหยุดภัยบุหรี่ thaihealthช่วงนั้นชีวิตวนเวียนแต่เรื่องเหล่านี้ กระทั้งถึงวันที่ก้าวพลาดก่อคดี สุดท้ายได้มาอยู่ที่บ้านกาญฯ ที่นี่มีกระบวนการทำให้ได้คิด เห็นคุณค่าของตัวเองและมีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคมมากขึ้น


"จากการพูดคุยกับเพื่อนที่นี่ ส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่ช่วง ป.6-ม.3  บางคนเห็นคนในครอบครัวสูบก็สูบตาม เกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากบุหรี่แบบแบ่งขายที่ซื้อมาจากร้านค้าข้างโรงเรียน ดังนั้นหากสามารถทำให้หยุดการแบ่งขายเป็นมวนได้ จะยับยั้งการเข้าถึงได้มาก  หวังว่ารัฐบาลจะมีกฎหมายมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้และขอฝากถึงเยาวชน ว่าอย่ายุ่งกับบุหรี่ไม่มีได้  มีแต่เสียกับเสีย เป็นต้นทางสู่ความเลวร้ายอื่นๆ  ขอวิงวอนร้านค้าให้เลิกขายให้เด็กเพราะเท่ากับสร้างให้อนาคตของชาติตกอยู่ในหลุมดำอันมืดมน" นายเอ กล่าว


นายมณฑล พวงเงิน หรือ "น้องโค๊ต" อายุ 23 ปี ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่จนต้องผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ กล่าวว่า เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกตอนเรียนชั้นมัธยมปีที่2หรือตอนอายุ14ปี สูบเพราะอยากรู้อยากลองเห็นในหนังในละครสูบแล้วดูเท่ห์ จากนั้นสูบหนักขึ้นเรื่อยๆวันละ2ซอง หาซื้อง่ายตามร้านขายของชำแถวบ้าน กระทั้งเข้ามหาวิทยาลัยมีอาการคอบวม พ่อและแม่ให้ไปตรวจ จึงพบว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ สาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ต้องเข้าผ่าตัดด่วน ผลที่ตามมาคือ เป็นอัมพาตครึ่งซีก ระบบการหายใจติดขัด ต้องเจาะคอ พูดไม่ได้เกือบปี ปัจจุบันหลังพักฟื้น2ปี ยังพูดไม่ชัดติดๆขัดๆ หมดค่ารักษาพยาบาลนับล้าน ปัจจุบันเลิกบุหรี่และอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง ต้องกินยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งทุกวัน    


"หากย้อนเวลาได้จะคิดถึงคนรอบข้างมากกว่าตัวเอง  เพราะช่วงที่รักษาเห็นได้เลยว่าคนที่เรารักเหนื่อยกว่าเราคือพ่อแม่ อยากฝากถึงเพื่อนวัยรุ่นคนที่ยังสูบบุหรี่ให้เลิกเพราะมันไม่ส่งผลดี เสียทั้งเงิน สุขภาพ อนาคต  และทำร้ายคนอื่น และฝากถึงธุรกิจบุหรี่อย่าหาผลประโยชน์กับเด็กและเยาวชน   ส่วนร้านค้าต้องเคารพกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากพิษภัยบุหรี่โดยตรง จะขอร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อให้ออกเป็นกฎหมายมาปกป้องคนไทย"นายมณฑล กล่าว


นางสาวจิราภรณ์ กมลรังสรรค์ อดีตเยาวชนนักรณรงค์ และปัจจุบันเป็นผู้ช่วยนักวิจัยสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ(สวน.) กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยปี2554 พบว่า จาก 8 คน ใน10คน เริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ20 ปี โดยปัจจุบันมีเด็กไทย อายุระหว่าง15-24 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า1,670,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุมาจากการรุกคืบทางการตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมบุหรี่ ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่ล้าสมัย โดยใช้กลยุทธ์ วิธีการรูปแบบใหม่ เพื่อจูงใจดึงดูดให้กลายเป็นสิงห์อมควัน เช่น โฆษณาผ่านอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงเยาวชนได้โดยตรงและมีผลต่อการอยากลองบุหรี่ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนตามสถาบันการศึกษาต่างๆซึ่งเป็นการโฆษณาแฝงจำแลงกายเป็นนักบุญซ่อนมีด ทั้งนี้มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่า หากเริ่มสูบบุหรี่ในอายุน้อยยิ่งมีโอกาสติดบุหรี่ง่ายและยากที่จะเลิกสูบได้สำเร็จ สุดท้ายกลายเป็นลูกค้าระยะยาวของอุตสาหกรรมบุหรี่


"พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ไม่สามารถควบคุมป้องกันปัญหากลยุทธ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบุหรี่ได้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เพื่อป้องกันเด็กเยาวชนเช่นห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ปัจจุบันกำหนดไว้ที่18ปี การห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การห้ามขายบุหรี่แบ่งซอง โดยการปรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ จะช่วยลดจำนวนเยาวชนหน้าใหม่ที่ติดบุหรี่ และปกป้องนักสูบหน้าใหม่ได้ซึ่งขอย้ำว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มีผลกระทบกับชาวไร่ยาสูบแต่ที่น่าเศร้าใจคือการออกมาให้ข้อมูลของกลุ่มที่ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้อย่างสมาคมผู้ค้ายาสูบไทย ที่ระบุว่าการขายบุหรี่แบบแบ่งขายเป็นมวนไม่เกี่ยวข้องกับการปกป้องเด็กและเยาวชน ตรงนี้เป็นความคิดที่เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองเกินไป  ข้อมูลจากเพื่อนเยาวชนในวันนี้ชี้ชัดว่านักสูบหน้าใหม่เริ่มจากบุหรี่แบ่งขาย อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะเห็นแก่เยาวชนที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ และคำนึงถึงอันตรายของพิษบุหรี่" นางสาวจิราภรณ์ กล่าว


 


 


 


ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code